TCMA เดินหน้าพัฒนาพื้นที่อดีตเหมืองแร่เหล็ก สู่โครงการ “เขาทับควายเพื่อชุมชน”

TCMA เดินหน้าพัฒนาพื้นที่อดีตเหมืองแร่เหล็ก สู่โครงการ “เขาทับควายเพื่อชุมชน”

TCMA เดินหน้าพัฒนาพื้นที่อดีตเหมืองแร่เหล็ก สู่โครงการ “เขาทับควายเพื่อชุมชน” สร้างประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน

ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เริ่มโครงการ "เขาทับควายเพื่อชุมชน" แสดงความมุ่งมั่นของอุตสาหกรรมปูนชีเมนต์ของไทย ในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่อดีตเหมืองแร่เหล็ก 193 ไร่ ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน ทั้งการฟื้นฟูขุมเหมืองเก่าให้เป็นแหล่งน้ำของชุมชน การปลูกป่าสร้างพื้นที่สีเขียวดักจับคาร์บอน ชุมชนใช้ประโยชน์ด้านสันทนาการ และการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยได้รับเกียรติจาก นายวชิระ เกตุพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ร่วมด้วย นายนิมิตร ศรคลัง รักษาการรองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายจีระ ทรงพุฒิ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) กรมป่าไม้ นายสมปอง หวังรุ่งวิชัยศรี ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 5 พิษณุโลก นายเดชา สุดสวาท ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี นายวรพจน์ ทองอุปการ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเหมืองแร่และพัฒนาปิโตรเลียม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมตัวแทนภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น เข้าร่วมบูรณาการความร่วมมือ เมื่อเร็วๆ นี้ (วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 - 11.30 น. ณ เหมืองแร่เหล็กเขาทับควาย ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี)

TCMA เดินหน้าพัฒนาพื้นที่อดีตเหมืองแร่เหล็ก สู่โครงการ “เขาทับควายเพื่อชุมชน”

ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า เขาทับควายในตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เป็นพื้นที่สำคัญด้านแหล่งแร่เหล็กของประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยประสบภาวะขาดแคลนตะปูและลวด ภาครัฐจึงมีนโยบายให้ตั้งโรงงานถลุงแร่เหล็กขึ้น เพื่อผลิตตะปู ลวด และวัสดุอื่นๆ ใช้ภายในประเทศให้พอเพียง โดยบริษัท นวโลหะ จำกัด ได้รับอนุญาตประทานบัตรเข้าทำเหมืองแร่เหล็กอย่างต่อเนื่อง จนประทานบัตรสิ้นอายุเมื่อปี 2553 และปัจจุบัน พื้นที่เหมืองแร่เหล็กเขาทับควาย อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี) กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ต่อมา สมาชิก TCMA โดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ดำเนินโครงการ เขาทับควายเพื่อชุมชนจึงได้ปรึกษาหารือกับชุมชนในสิ่งที่อยากจะได้ประโยชน์อะไรจากการทำเหมืองตรงนี้ แล้วนำมาวิเคราะห์ออกแบบ ควบคู่กับหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่อดีตเหมืองแร่เหล็ก 193 ไร่ แห่งนี้ ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายของ TCMA ที่เหมืองต้องสร้างประโยชน์ต่อชุมชนและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามนโยบายภาครัฐ 

ดร. ชนะฯ เพิ่มเติมว่า การพัฒนาพื้นที่โครงการเขาทับควายเพื่อชุมชน ตั้งเป้าดำเนินงาน 5 ปี ระหว่างปี 2566-2570 และเริ่มดำเนินการทันที โดยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยฝั่งทิศตะวันตก ซึ่งป็นพื้นที่บ่อเหมืองเดิมประมาณ 60 ไร่ พัฒนาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อชุมชนใช้ประโยชน์ สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุดประมาณ 300,000 ลูกบาศก์เมตร บริเวณโดยรอบบ่อเหมืองและทั่วทั้งพื้นที่โครงการดำเนินการปลูกไม้ท้องถิ่น ทั้งราชพฤกษ์ ตะแบก และชมพูพันธุ์ทิพย์ สร้างพื้นที่สีเขียว ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต สำหรับฝั่งทิศตะวันออก จัดทำพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเพื่อแสดงข้อมูลการทำเหมืองแร่เหล็กและเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียนด้านนิเวศวิทยา ด้านธรณีวิทยาแหล่งแร่ ด้านประวัติศาสตร์การทำเหมืองแร่เหล็กโบราณ และพัฒนาป่าเขาทับควาย 175 ไร่เพื่อสร้างระบบนิเวศน์และความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ รวมถึงพัฒนาเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและเหมืองแร่เหล็กโบราณ พร้อมจุดชมทัศนีภาพเขาทับควายในมุมกว้าง นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานสำหรับเจ้าหน้าที่ดูแลพื้นที่โครงการเขาทับควายเพื่อชุมชนด้วย

  TCMA เดินหน้าพัฒนาพื้นที่อดีตเหมืองแร่เหล็ก สู่โครงการ “เขาทับควายเพื่อชุมชน”

โครงการ เขาทับควายเพื่อชุมชนนี้ เป็นการนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติ สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากจังหวัดลพบุรี กรมป่าไม้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมทรัพยากรธรณี กรมศิลปากร สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งเรื่องแหล่งน้ำ แหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยในวันเริ่มขับเคลื่อนโครงการ ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนชาวห้วยโป่งและใกล้เคียง ได้ร่วมกันปลูกต้นตะแบกกว่า 250 ต้น เพื่อเป็นปฐมฤกษ์ของความร่วมมือและเป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนต่อไป ดร. ชนะฯ กล่าวตอนท้าย