กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำช่วยเหลือภาคอีสาน พร้อมเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำช่วยเหลือภาคอีสาน พร้อมเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

กรมชลประทาน เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ภาคอีสาน หลังมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ระดมติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อเร่งระบายน้ำ พร้อมเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 65 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำต่างๆเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำและระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในขณะนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ 

จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.มัญจาคีรี และ อ.ชุมแพ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง ได้ยกบานประตูระบายน้ำที่เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง และเขื่อนร้อยเอ็ด ทุกบาน พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 15 เครื่อง ที่เขื่อนร้อยเอ็ด และมีแผนที่จะติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณเขื่อนวังยาง และสะพานบ้านโนนยาง อ.เสลภูมิ เพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ลำน้ำชี นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประจำจุดเสี่ยงอีก 6 จุด พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ประตูระบายน้ำ D8 (ห้วยพระคือ) อีก 3 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ให้เร็วขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำช่วยเหลือภาคอีสาน พร้อมเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านจังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 2 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านแท่น และ อ.ภูเขียว โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ ได้เร่งระบายน้ำ ด้วยการยกบานประตูระบายน้ำลำน้ำเชิญ อ.ชุมแพ ให้พ้นน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ตามลำดับ ช่วยลดผลกระทบพื้นที่ตอนบนทั้งในเขต จ.ชัยภูมิ และ จ.ขอนแก่น 

ส่วนที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีน้ำท่วมพื้นที่นอกพนังกั้นน้ำริมลำน้ำยัง 2 อำเภอ ได้แก่ อ.โพนทอง และ อ.เสลภูมิ โครงการชลประทานร้อยเอ็ด ได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 23 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากในพื้นที่ พร้อมนำกระสอบทราย 12,000 กระสอบ วางเสริมป้องกันจุดเสี่ยงน้ำท่วมตลอดแนวพนังกั้นน้ำ

กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำช่วยเหลือภาคอีสาน พร้อมเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่น้ำท่วม 6 อำเภอ ได้แก่ อ.วารินชำราบ อ.นาจะหลวย อ.เดชอุดม อ.นาเยีย อ.น้ำยืน และ อ.เมือง โครงการชลประทานอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักเครื่องจักรกล ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำมูล จำนวน 100 เครื่อง บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร เพื่อเร่งผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้รวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ทั้ง 13 มาตรการ อย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที และตรวจสอบระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางรับมือสถานการณ์น้ำหลาก รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำจากฝนตกหนักและน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้