เปิดแผน กทม. สู้โรค ล่าสุด ไข้หวัดใหญ่คลี่คลาย แล้ว โควิด-19 ทรงตัว

เปิดแผน กทม. สู้โรค ล่าสุด ไข้หวัดใหญ่คลี่คลาย แล้ว โควิด-19 ทรงตัว

ไข้หวัดใหญ่ กทม. สถานการณ์ดีขึ้นผู้ป่วยลดลง ด้านตัวเลขโควิด-19 ทรงตัว เร่งสื่อสารประชาชน ไม่ตระหนก แต่ต้องเฝ้าระวัง

วันนี้ (10 มิ.ย. 68) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2568 โดยมี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อติดตามสถานการณ์โรคติดต่อสำคัญในพื้นที่

สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวัง

สำนักอนามัย รายงานว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในกรุงเทพมหานครที่มีการระบาดในช่วงต้นปี ปัจจุบันมีแนวโน้มดีขึ้น โดยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึง 9 มิถุนายน 2568 จะมีผู้ป่วยสะสมถึง 47,142 ราย ซึ่งสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลังถึง 2.1 เท่า กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือเด็กวัยเรียน 5-14 ปี รองลงมาคือ 35-44 ปี และพบการระบาดมากที่สุดในโรงเรียนและเรือนจำ

กรุงเทพมหานครได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรค ด้วยการเฝ้าระวังในพื้นที่ที่มีคนรวมกลุ่มจำนวนมาก เช่น โรงเรียนและเรือนจำ โดยมีการคัดกรองผู้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และแนะนำให้หยุดงานหรือหยุดเรียน พร้อมแยกตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

เปิดแผน กทม. สู้โรค ล่าสุด ไข้หวัดใหญ่คลี่คลาย แล้ว โควิด-19 ทรงตัว

โควิด-19 ทรงตัว แม้ความรุนแรงลดลง
สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-7 มิถุนายน 2568 พบผู้ป่วยรายใหม่ 7,819 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 7 มิถุนายน 2568 อยู่ที่ 109,312 ราย และเสียชีวิตสะสม 12 ราย

แม้ว่าโควิด-19 จะยังคงแพร่กระจายในวงกว้างอย่างรวดเร็ว แต่พบว่าอาการความรุนแรงลดลงอย่างชัดเจน แนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นทรงตัว และคาดว่าจะลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายนอก เช่น ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ การเปิดเทอมของโรงเรียน และกิจกรรมรวมกลุ่มขนาดใหญ่ อาจส่งผลต่อความแม่นยำของการคาดการณ์

รองผู้ว่าฯ ทวิดาได้กำชับให้สำนักอนามัยเร่งประชาสัมพันธ์และสื่อสารกับประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังตนเองและปฏิบัติตามมาตรการพื้นฐานอย่างเคร่งครัด

เปิดแผน กทม. สู้โรค ล่าสุด ไข้หวัดใหญ่คลี่คลาย แล้ว โควิด-19 ทรงตัว

ไข้เลือดออกควบคุมได้ดี ขณะที่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังน่ากังวล
ในส่วนของโรคไข้เลือดออก กรุงเทพมหานครสามารถควบคุมโรคได้ดี โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 24 พฤษภาคม 2568 พบผู้ป่วย 787 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งอัตราป่วยลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 5-14 ปี รองลงมาคือ 15-34 ปี และ 0-4 ปี กรุงเทพมหานครยังคงเดินหน้าสำรวจลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองในที่พบมากในกลุ่มอายุ 15-24 ปี และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนโรคฝีดาษวานร มีผู้ป่วยสะสม 501 ราย ตั้งแต่ 28 กรกฎาคม 2565 ถึง 8 มิถุนายน 2568 โดยพบมากที่สุดในเขตกรุงเทพกลาง เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ กรุงเทพมหานครจะขยายมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและดูแลรักษาในสถานศึกษา ชุมชน ร้านยา และส่งเสริมการเข้าถึงการตรวจโรคให้มากขึ้น รวมถึงการแจกจ่ายถุงยางอนามัยและประชาสัมพันธ์สิทธิการเข้าถึงถุงยางอนามัยให้ประชาชนรับทราบ

เปิดแผน กทม. สู้โรค ล่าสุด ไข้หวัดใหญ่คลี่คลาย แล้ว โควิด-19 ทรงตัว

เดินหน้าฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ต่อเนื่อง

กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

  • ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง : ได้รับการจัดสรรวัคซีนจาก สปสช. รวม 395,470 โดส
  • งาน BKK EXPO 2025 : ได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. และบริษัท AIA โดยฉีดให้ประชาชน 7,757 โดส
  • ลงพื้นที่เชิงรุก : ระหว่างวันที่ 17 มีนาคม - 20 เมษายน 2568 เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดในพื้นที่ จำนวน 10,000 โดส

นอกจากนี้ ในปี 2568 ยังมีโครงการให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่นักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 66,689 โดส รวมถึงการสนับสนุนวัคซีนจากบริษัท AIA สำหรับพนักงานกวาดและเก็บขยะมูลฝอยและประชาชนทั่วไปอีก 10,000 โดส และได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข 6,500 โดส สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

รองผู้ว่าฯ ทวิดาได้เน้นย้ำให้สำนักอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสรรวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้เพียงพอ โดยประสานขอโควตาวัคซีนเพิ่มเติมจาก สปสช. เพื่อให้ประชาชนได้รับการป้องกันโรคอย่างทั่วถึง

สถานการณ์โรคติดต่อในกรุงเทพมหานครยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แม้บางโรคจะคลี่คลายลง แต่การป้องกันตนเองและปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขพื้นฐานยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด