ฝุ่น PM2.5 ความเสี่ยง โรคมะเร็งปอด หมอเผย เจอเร็วโอกาสรอดชีวิตสูง

ฝุ่น PM2.5 ความเสี่ยง โรคมะเร็งปอด หมอเผย เจอเร็วโอกาสรอดชีวิตสูง

ฝุ่น PM2.5 เพิ่มความเสี่ยง "โรคมะเร็งปอด" หมอเผย ผู้ป่วย 60-70% ตรวจเจอระยะที่ 4 ย้ำควรเข้าถึงการรักษาให้เร็วที่สุด หากเจอระยะที่ 1 โอกาสรอดชีวิต 80-90%

รศ.นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องในช่องทรวงอก โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เปิดเผยว่า ในยุค ฝุ่น PM2.5 มหันตภัยด้านมลพิษคุกคามคนไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงจาก "โรคมะเร็งปอด" มากขึ้น ผู้ป่วยเข้ามารับการรักษามากขึ้น อีกทั้งยังพบ ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่มีอายุที่น้อยลงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากสถิติของข้อมูลจากสถาบันมะเร็งนานาชาติ พบว่าหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในโลก คือ "มะเร็งปอด" และมีอัตราการตายจากโรคมะเร็งที่สูงที่สุดก็คือ โรคมะเร็งปอด นั่นเอง

 

ในส่วนของมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งเต้านม และ มะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการและมักมาหาแพทย์ด้วยความรวดเร็วขึ้น เนื่องจากมะเร็งเต้านมอยู่ภายนอกสามารถคลำได้ เจอได้ก่อนที่จะลุกลาม ส่วนมะเร็งลำไส้ใหญ่มักจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีอาการเตือนเป็นช่วงๆ เช่น ถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีเลือดออก

ส่วน มะเร็งปอด โดยส่วนมากแล้วคนไข้มักจะมาหาแพทย์ด้วยระยะที่เป็นมากแล้ว เพราะปอดเป็นอวัยวะภายในและมักไม่มีการแสดงอาการในระยะแรก โดยปอดมีพื้นที่เยอะ ก้อนมะเร็งแค่ 1 เซนติเมตร หรืออาจไม่ถึง 1% ของพื้นที่ปอด ซึ่งกว่าที่จะมีอาการก็มักจะเป็นมากแล้ว ดังนั้นการรักษาเลยได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร ผู้ป่วยที่มาครั้งแรกจากโรคมะเร็งปอดจำนวนกว่า 60-70% มักจะตรวจเจออุบัติการณ์ของโรคในระยะที่ 4 ส่วนระยะที่ 3 จะอยู่แค่ประมาณ 20% และในระยะที่ 1-2 จะอยู่รวมกันประมาณ 15-20% เท่านั้น

ปัจจุบันวิธีการตรวจที่มีการศึกษาและยืนยันว่าจะช่วยลดอัตราการตายของมะเร็งปอด คือ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดรังสีต่ำ (Low-dose Computed Tomography: LDCT) ซึ่งจะช่วยให้วินิจฉัยก้อนมะเร็งได้รวดเร็วขึ้น วิธีการนี้มักจะเหมาะสมกับคนไข้ที่มีความเสี่ยงของโรคมะเร็งสูง เช่น คนไข้ที่สูบบุหรี่หนักและเป็นเวลานาน

 

โรคมะเร็งปอด นั้นเราสามารถรักษาได้ทั้งการผ่าตัดและการให้ยารักษา เช่น การใช้ยาเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า หรือการฉายแสง โดยเฉพาะคนไข้ที่เจอโรคในระยะเริ่มต้น การผ่าตัดมักมีโอกาสหายขาดได้มาก อีกทั้งยิ่งเป็นการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง เช่น การผ่าตัดแบบจุดเดียวจะส่งผลทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้รวดเร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนกว่าการผ่าตัดแบบเปิด เวลาผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งแล้ว มักจะถูกมองว่าเค้าอาจจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน แต่รู้หรือไม่ว่าในโลกปัจจุบันไม่ใช่เป็นแบบนั้นอีกแล้ว เรามีการรักษาโรคมะเร็งปอดที่รักษาให้หายขาดได้ หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็งปอดที่แพร่กระจายแล้ว คนไข้ก็ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชีวิตที่ยืนยาว สามารถที่จะมีชีวิตอยู่อย่างใกล้เคียงเป็นปกติได้

สำหรับในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา โอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปี ของคนไข้มะเร็งปอดเมื่อระยะที่ 1 จะมีมากถึง 80-90% ระยะ 2 โอกาสรอด 50-70% ส่วนในระยะ 3 โอกาสรอด 30-50% และในระยะ 4 โอกาสรอด 0-20% โดยการรักษาในปัจจุบันมีการใช้ยามุ่งเป้าสำหรับผู้ป่วยที่มีลักษณะทางพันธุกรรมของมะเร็งปอด เช่น EGFR,ALK,ROS-1 นั้นๆ ทำให้คนไข้มีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น และผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือผู้ป่วยต้องเข้าถึงการรักษาให้เร็วที่สุดและต้องร่วมมือในการรักษา และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อย่าหลงทาง ถ้าผู้ป่วยหลงทางไปรักษาในวิธีที่ไม่เหมาะสมก็จะทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาส ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือผู้ป่วยต้องไม่เสียโอกาส ต้องรีบใช้โอกาสที่จะรักษาให้หายและรักษาโรคมะเร็งปอดนี้ไว้ให้ได้