โลกกำลังเผชิญ ‘สึนามิโรคมะเร็ง’ คาดป่วยทั่วโลก 35 ล้านราย ในปี 2050

โลกกำลังเผชิญ ‘สึนามิโรคมะเร็ง’ คาดป่วยทั่วโลก 35 ล้านราย ในปี 2050

WHO คาดการณ์ว่า ในปี 2050 ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ จะมีมากกว่า 35 ล้านราย เพิ่มขึ้นกว่า 77% ขณะที่ ประเทศไทย สถิติพบว่า ในปี 2022 มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ 140,000 ราย/ปี หรือ 400 ราย/วัน ทั้งจากการสูบบุหรี่ แอลกอฮอลล์ ความอ้วน และมลพิษทางอากาศ

Key Point : 

  • มะเร็ง นับเป็นปัญหาสุขภาพของคนทั่วโลก WHO คาดการณ์ว่า ในปี 2050 ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ จะมีมากกว่า 35 ล้านราย เพิ่มขึ้นกว่า 77%
  • มะเร็งที่พบ 5 อันดับแรกของโลก คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง และ มะเร็งปากมดลูก
  • การคัดกรอง ที่รวดเร็ว และพบเจอมะเร็งในระยะต้นๆ จะทำให้รักษามีประสิทธิภาพ และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น 

 

โรคมะเร็ง เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของคนทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งใน 48 ประเทศ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่าในปี 2023 เป็นต้นไป โลกจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 20 ล้านราย

 

ขณะที่ประเทศไทย กรมการแพทย์ ได้เผยสถิติว่าในปี 2022 มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ 140,000 ราย/ปี หรือ 400 ราย/วัน ที่สำคัญยังพบว่ามีอัตราการเกิดมะเร็งในคนอายุน้อยเพิ่มขึ้น โดยเกิดจากพฤติกรรมการกินมากถึง 30-40% ทำให้คนส่วนใหญ่มีความกังวลจากโรคมะเร็งที่เริ่มใกล้ตัวมากขึ้น

 

ปี 2025 ทั่วโลกป่วย 35 ล้านราย

โลกกำลังเผชิญกับ ‘สึนามิโรคมะเร็ง’ องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2050 ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ จะมีมากกว่า 35 ล้านราย เพิ่มขึ้นกว่า 77% จากหลายปัจจัย อาทิ โดยเฉพาะผู้สูงวัย การสูบบุหรี่ แอลกอฮอลล์ ความอ้วน และมลพิษทางอากาศ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2040 ผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า 28.9 ล้านคน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

หากย้อนไป ในปี 2020 ที่ผ่านมา WHO ได้ทำการประเมินผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลก พบว่ามีจำนวนราว 19.3 ล้านราย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยในทวีปเอเชียราว 9 ล้านราย ยุโรป 4 ล้านราย อเมริกาเหนือ 2 ล้านราย อเมริกาใต้ 1.4 ล้านราย แอฟริกา 1.1 ล้านราย และโซนโอเชียเนียอีกราว 2 แสนราย ผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง สูงมากถึงเกือบ 10 ล้านราย

 

“มีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง”

 

5 มะเร็งที่พบทั่วโลก

โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คนไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของทั่วโลก โรคมะเร็งที่พบ 5 อันดับแรกของโลก คือ

  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
  • มะเร็งปากมดลูก

 

5 มะเร็งพบมากในไทย

สำหรับประเทศไทย สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราว 1.4 แสนคน เสียชีวิต 8.3 หมื่นคน โดยโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 5 อันดับแรก คือ

  • มะเร็งตับและท่อน้ำดี
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว

 

คัดกรองมะเร็งก่อนสาย 

เมื่อดู 3 อันดับ มะเร็งที่พบทั่วโลกอย่าง มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งปอด พบความเสี่ยงทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะมะเร็งปอด ปัจจุบันไม่เพียงแค่คนที่สูบบุหรี่เท่านั้นที่มีความเสี่ยง แต่ยังรวมไปถึงคนที่เจอมลพิษทางอากาศ PM2.5 ทำให้พบผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่ ที่เป็นมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การคัดกรอง มะเร็งอย่างทันท่วงที จะช่วยให้การรักษาผู้ป่วยเป็นไปได้เร็วขึ้น และสามารถหายได้

 

 

3 วิธีคัดกรองมะเร็งเต้านม

ผู้หญิงเมื่ออายุเพิ่มขึ้นโรคภัยและปัญหาด้านสุขภาพมักเริ่มถามหา ในปัจจุปัน "มะเร็งเด้านม" ถือเป็นภัยเงียบของผู้หญิงเพราะมักมาโดยไม่มีสัญญาณเตือน ข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อธิบายว่า ผู้หญิงทุกคนมี ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้ การตรวจคัดกรองจึงมีความสำคัญ เพราะหากตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ย่อมช่วยไม่ให้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ คุณเองก็สามารถสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ดังนี้

 

อาการมะเร็งเต้านมที่พบบ่อย

1. คลำพบก้อนที่เต้านม

2. มีการเปลี่ยนแปลงขนาด และรูปร่างของเต้านม

3. ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น รอยบุ๋ม ย่น หดตัวหรือมีความหนาผิดปกติ

4. หัวนมมีการหดตัว คัน หรือมีผื่นแดงผิดปกติ

5. มีเลือด หรือของเหลวไหลออกจากหัวนม

 

การที่เราตรวจสอบสุขภาพตัวเองโดยใช้วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ เมื่อคลำเจอก้อนในเด้านมอย่าเพิ่งตกใจเพราะก้อนส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้อร้าย แต่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของความผิดปกตินั้น

 

วิธีการตรวจวินิจฉัย

1. ตรวจมะเร็งด้วยตัวเอง 3 ท่าง่ายๆ

1.1 ท่ายืนหน้ากระจก

  • ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัวตามสบาย สังเกตเปรียบเทียบขนาดเต้านมทั้งสองข้างว่ามีการบิดเบี้ยวของหัวนม หรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่
  • สำรวจหาความผิดปรกติในท่าประสานมีอเหนือศีรษะและท่าเท้าเอว
  • โน้มตัวไปข้างหน้าโดยวางมือทั้ง 2 ข้างบนเข่าหรือเก้าอี้ แล้วสังเกตความปกติ

1.2 ท่านอนราบ

  • นอนราบในท่าที่สบาย
  • ยกแขนข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมแผ่ราบ โดยเฉพาะบริเวณส่วนบนด้านนอกซึ่งมีเนื้อหนาที่สุด
  • ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมืออีกข้างหนึ่ง คลำให้ทั่วเต้านมและรักร้ โดยห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะรู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่
  • เมื่อตรวจเสร็จข้างหนึ่งแล้วให้ย้ายมาตรวจอีกข้างหนึ่งด้วยวิธีเดียวกัน

1.3 ขณะอาบน้ำ

  • ผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก ให้ยกแขนข้างที่จะตรวจไว้เหนือศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งคลำแบบเดียวกับท่านอนราบ
  • ผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ให้ใช้มือข้างที่จะตรวจประคอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งตรวจคลำจากด้านบน

 

2. การตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม (Mammogram)

การตรวจ 'แมมโมแกรม' เป็นการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษคล้ายการตรวจเอกซเรย์ มีประสิทธิภาพในการตรวจมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้การรักษาได้ผลดี และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงจากการเป็นมะเร็งเต้านม

 

การตรวจแมมโมแกรมเป็นวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดในปัจจุบัน สามารถตรวจพบหินปูนที่มีลักษณะผิดปกติในเต้านม หรือรอยโรคที่มีขนาดเล็กได้ ใช้เวลาตรวจเพียง 30 นาที และไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนเข้ารับการตรวจอีกด้วย

 

ใครควรตรวจแมมโมแกรมบ้าง?

  • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ขึ้นไป ควรเริ่มตรวจเป็นประจำทุกปี
  • ในกรณีที่บุคคลในครอบครัวมีประวัติสายตรง การป่วยเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน ควรเริ่มตรวจเร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 30 ปี
  • บุคคลที่มีประวัติตรวจยีนผิดปกติ (Gene mutation) ได้แก่ ยืน BRCA1 และ BRCA2 หรือมีญาติสายตรงที่ตรวจพบยืนผิดปกติให้เริ่มตรวจเป็นประจำทุกปีตั้งแต่อายุ 25
  • บุคคลที่มีประวัติฉายแสงบริเวณทรวงอก ขณะอายุ 10-30 ปี ให้เริ่มตรวจเป็นประจำทุกปี หลังจากได้รับการฉายแสงเสร็จสิ้นแล้ว 8 ปี (แต่อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี)
  • บุคคลที่คลำพบก้อนเนื้อ มีเลือดออกที่หัวนม หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่เต้านม
  • บุคคลที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเนื้องอกในเต้านม เพื่อติดตามผลการรักษา

 

การตรวจด้วยอัลตราชาวนด์ร่วมด้วย

การตรวจอัลตราชาวด์ควบคู่กับแมมโมแกรมจะช่วยเพิ่มความแม่นยำและการวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น การตรวจอัลตราชาวด์เป็นการใช้คลื่นความถี่สูงผ่านเข้าไปในเนื้อเต้านม เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ จะสะท้อนกลับมาเกิดเป็นสภาพที่เครื่องตรวจ

 

ทำให้สามารถดูองค์ประกอบได้ว่า สิ่งแปลกปลอมในเต้านมนั้นเป็นถุงน้ำ หรือก้อนเนื้อ โดยเฉพาะกรณีผู้ที่มีเนื้อเต้านมแน่น เช่น ในผู้หญิงอายุน้อย แต่การอัลตราชาวด์ไม่สามารถแทนที่การตรวจแมมโมแกรมได้ เพราะไม่สามารถตรวจพบหินปูนได้

 

3. ตรวจเจาะชิ้นเนื้อ

ทันทีที่ตรวจพบความผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านม ศัลยแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งทำได้ 2 วิธีคือ การใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อหรือการผ่าตัดเพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา การใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ รังสีแพทย์จะพิจารณาว่าควรใช้เครื่องมือสำหรับการระบุตำแหน่งที่ผิดปกติเป็นเครื่องอัลตราชาวด์ (UItrasound) หรือ สเตอริโอแทคติก แมมโมแกรม (Stereotactic Mammogran) เพื่อทำให้การเจาะชิ้นเนื้อได้ตำแหน่งที่ถูกต้องแม่นยำ

 

ดังนั้น เมื่อถึงวัยอันควรควรเข้ารับตรวจร่างกายรวมถึงตรวจแมมโมแกรม เพราะเมื่ออายุมากขึ้นก็มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งมากกว่าคนอายุน้อย ด้วยเหตุนี้จึงควรตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ และตรวจเอกซเรย์เต้านมเมื่อถึงวัยอันควร เพื่อที่จะวินิจฉัยมะเร็งให้ได้แต่เนิ่นๆ การรักษาจึงจะได้ผลดี

 

สัญญาณเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมาก ถูกจัดให้เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นอันดับต้นๆ ในผู้ชายไทย และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยลักษณะของโรคที่ไม่มีอาการบ่งชี้ที่ชัดเจนหรือ หากมีอาการก็จะมีลักษณะคล้ายกับอาการต่อมลูกหมากโต หรือต่อมลูกหมากอักเสบ ทำให้กว่าจะตรวจพบก็เป็นมากหรือลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ โดยมีสัญญาณเตือน ดังนี้

  • เวลาเริ่มปัสสาวะจะรู้สึกลำบาก
  • ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือปัสสาวะราดเท้า
  • ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน
  • รู้สึกปวดเมื่อปัสสาวะ หรือหลั่งน้ำอสุจิ
  • มีเลือดปนในปัสสาวะ หรืออสุจิ

 

ตรวจคัดกรอง

  • การตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากสามารถทำได้หลายวิธี การต้องอาศัยการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
  • การคลำต่อมลูกหมาก แพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าไปทางรูทวารหนักเพื่อตรวจหาก้อนมะเร็ง โดยการคลำเพื่อตรวจสอบขนาดรูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก
  • การตรวจเลือดหาค่า PSA (Prostatic Specific Antigen) คือสารคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด ซึ่งสารชนิดนี้จะถูกผลิตขึ้นมามากกว่าปกติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • การตรวจ MR/Ultrasound Fusion Biopsy เทคโนโลยีภาพเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กสามมิติแบบ Real time ที่ใช้ในการบ่งชี้ความผิดปกติของต่อมลูกหมากและแนวโน้มจะเป็นมะเร็ง ทำให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดและตำแหน่งก้อนในต่อมลูกหมากชัดเจน สามารถกำหนดบริเวณที่จะตัดชิ้นเนื้อได้แม่นยำ

 

ใครบ้างที่ควรตรวจ

  • ผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติคนในครอยครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ชอบทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์

 

รู้ทันความเสี่ยง มะเร็งปอด

มะเร็งปอด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์ เมื่อมะเร็งมีอาการลุกลาม ดังนั้น การตรวจตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก จะช่วยให้มีผลการรักษาที่ดี และด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและพัฒนามากขึ้น ทำให้การรักษามะเร็งปอดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด ดังนี้

 

1. บุหรี่ เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดสูงถึงร้อยละ 8. - 90% การสูบบุหรี่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์หลอดลม ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ ผู้ที่สูบบุหรี่จัดมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุรี่มากกว่า 10 เท่า ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปอย่างน้อย 2 เท่า หากผู้ที่สูบบุหรี่จัดหยุดสูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดลดลงเรื่อย ๆ แต่กว่าจะลดลงจนเท่าคนที่ไม่สูบบุหรี่จะต้องใช้เวลากว่า 10 ปี

 

2. สารพิษ การสัมผัสสารแอสเบสตอส หรือแร่ใยหินชื่งมักนำมาใช้ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น ฉนวนกันความร้อน ผ้าเบรค คลัช การก่อสร้าง โครงสร้างอาคารอุตสาหกรรม สิ่งทอ เหมืองแร่ สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า นอกจากนี้ยังทำให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอดได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สูบบุหรี่ร่วมด้วย จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 90 เท่า นอกจากนี้สารอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด ได้แก่ สารหนู นิกเกิลโครเมียม และมลภาวะในอากาศ

 

3. โรคปอด ผู้ที่เคยมีรอยแผลเป็นของโรคที่ปอด เช่น เคยเป็นวัณโรคปอดหรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง มีโกาสเกิดมะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลทั่วไป

 

4. ปัจจัยอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น การใช้ยาเสพติดบางประเภท เช่น โคเคน ภาวะขาดวิตามินเอ พันธุกรรม

 

อาการของโรคมะเร็งปอด

1. อาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่

  • ไอเรื้อรัง อาจมีหรือไม่มีเสมหะก็ได้
  • ไอเป็นเลือด
  • หอบเหนื่อย หายใจลำบาก เนื่องจากก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้เนื้อที่ปอดสำหรับหายใจเหลือน้อยลง หรือ ก้อนมะเร็งนั้นกดเบียดหลอดลม
  • เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
  • ปอดอักเสบ มีไข้
  • แต่อาการเหล่านี้ อาจเกิดจากโรคอื่นๆ ของปอดได้เช่นกัน จึงไม่ใช่อาการของมะเร็งปอดเสมอไป

 

2. อาการของระบบอื่นๆ ได้แก่

  • เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • บวมที่หน้า แขน คอ และทรวงอกส่วนบนเนื่องจากมีเลือดดำคั่ง
  • เสียงแหบ เพราะมะเร็งลุกลามไปยังเส้นประสาทบริเวณกล่องเสียง
  • ปวดกระดูก
  • กลืนลำบาก เนื่องจากก้อนมะเร็งกดเบียดหลอดอาหาร
  • อัมพาต เนื่องจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังสมองหรือไขสันหลัง
  • มีตุ่มหรือก้อนขึ้นตามผิวหนัง

 

ซึ่งอาการเหล่านี้อาจไม่ใช่โรคมะเร็งปอดเช่นกัน ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุร่วมด้วย

 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด

1. การตรวจคัดกรองในผู้มีความเสี่ยง ในปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low - Dose Computerized Tomography : LDCT) ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดผู้ป่วยสูงอายุ โรคปอดเรื้อรังและมีญาติเป็นมะเร็งหลายคนซึ่งช่วยในการตรวจพบจุดหรือก้อนมะเร็งปอดขนาดเล็กๆที่ไม่สามารถตรวจพบได้จากการเอกชเรย์ปอดแบบธรรมดาโดยผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนตรวจ

 

2. การซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจพิเศษโดยแพทย์

  • เอกซเรย์ปอด (X-Ray)
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
  • การตรวจด้วยเครื่องเพท/ซีทีสแกน (PET/CT Scan)
  • การส่องกล้องหลอดลมปอด (Bronchoscopy) และตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy)
  • การส่องกล้องในช่องกลางทรวงอก (Mediastinoscopy)
  • การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อ (CT-Guided Biopsy) เป็นต้น

 

ข้อมูลจากการตรวจชื้นเนื้อทางพยาธิวิทยาถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากที่สุดในการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด เนื่องจากผลชื้นเนื้อทางพยาธิวิทยาจะสามารถยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็ง และสามารถแยกชนิดของมะเร็งได้ว่าเป็นมะเร็งชนิดใด หรือเป็นมะเร็งของอวัยวะนที่แพร่กระจายที่ปอด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเลือกวิธีการรักษาจำเพาะต่อไป

 

อ้างอิง : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์