บกปภ.ช. ย้ำ 6 มาตรการ แก้ปัญหาเชิงรุก ฝุ่น PM2.5 คืนอากาศสะอาดให้ประชาชน

บกปภ.ช. ย้ำทุกภาคส่วนดำเนินการตาม 6 มาตรการอย่างเข้มข้น เน้นบูรณาการข้อมูลเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาเชิงรุก ฝุ่น PM2.5 พร้อมตรวจสอบที่มาของจุดความร้อนและแก้ปัญหาโดยด่วน เพื่อคืนอากาศสะอาดให้ประชาชนโดยเร็ว
วันนี้ (6 ก.พ. 68) ณ ห้องกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยมีผู้บริหาร ปภ. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ โดยยังคงย้ำทุกภาคส่วนดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่น 6 ด้านอย่างเข้มข้น บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ร่วมกับติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมกับใช้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการทำงานเชิงรุกและบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชนโดยเร็ว
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง/เลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของทิศทางลม ส่งผลให้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยพบว่าหลายพื้นที่เริ่มมีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐาน (ระดับสีส้ม) ในขณะที่สถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจากการตรวจสอบค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ให้ห้วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบว่าค่าฝุ่นมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงมีหลายพื้นที่ที่ค่าฝุ่นยังคงเกินมาตรฐาน
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นของประเทศในห้วงถัดไปนั้น คาดว่าค่าฝุ่นจะยังคงสูงอย่างต่อเนื่องและจะลดลงในวันที่ 10 ก.พ. 68 ก่อนที่จะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในวันที่ 12 ก.พ. 68 ในส่วนของจุดความร้อน (Hotspot) และไฟป่านั้น แม้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้วพบว่ามีปริมาณลดลง ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าและประกาศปิดพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 85 จุด ในส่วนของการดำเนินการตามกฎหมาย ได้มีการตรวจรถควันดำอย่างเข้มข้น โดยมีการตรวจสอบยานพาหนะรวมกว่า 5,798 ครั้ง และจับกุมยานพาหนะที่มีควันดำกว่า 265 รายการ
“ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การรณรงค์เคาะประตูบ้าน “หยุดเผา หยุดฝุ่น เพื่อคุณ เพื่อเรา” การประกาศพื้นที่ห้ามเผา ซึ่งปัจจุบันมีจังหวัดออกประกาศแล้ว 54 จังหวัด การตรวจสอบโครงการก่อสร้างที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การจัดอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรในพื้นที่ การสนับสนุนอุปกรณ์การผลิตเพื่อให้เกษตรกรใช้วิธีการอื่นในการจัดการเศษซากพืชแทนการเผา การจัดห้องปลอดฝุ่นบริการประชาชน รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และรณรงค์หยุดเผาผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อลดมลพิษทางอากาศและคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด
ขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วนดำเนินการตามมาตรการทั้ง 6 ด้าน ของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติอย่างเข้มข้น ทั้งมาตรการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์อย่างทันท่วงที มาตรการป้องกันปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเผาอย่างเด็ดขาด มาตรการลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนให้มีน้อยที่สุด มาตรการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างเข้มข้น มาตรการสนับสนุนงบประมาณ และมาตรการขับเคลื่อนกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยขอให้เน้นการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ และการใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเรื่องจุดความร้อน (Hotspot) ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และข้อมูลคาดการณ์ลักษณะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยามาใช้ในการกำหนดแนวทางการทำงานและวางแผนแก้ไขปัญหาเชิงรุก เพื่อลดความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นและบรรเทาผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของประชาชนให้ได้มากที่สุด” นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าว
ด้าน นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันนี้มีรายงานพบจุดความร้อน (Hotspot) จำนวน 555 จุด เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีผ่านมา พบว่าจุดความร้อนมีจำนวนลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินการร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้นและจริงจังในห้วงที่ผ่านมา สำหรับจุดความร้อนที่ตรวจพบนั้น พบว่า 5 จังหวัดแรกที่มีจุดความร้อนสูงสุดคือจังหวัดกาฬสินธุ์ เพชรบูรณ์ ตาก สระแก้ว และลำปาง ซึ่งส่วนใหญ่พบในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ สปก. ยกเว้นในจังหวัดลำปางที่พบในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดดังกล่าวเร่งตรวจสอบพื้นที่ที่ตรวจพบจุดความร้อนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดจุดความร้อนดังกล่าว และแก้ไขปัญหาทันที สำหรับจังหวัดอื่นที่มีจุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้น ขอให้ตรวจสอบบริเวณที่พบจุดความร้อนและประสานหน่วยงานในพื้นที่แก้ไขโดยทันที
ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่น 6 ข้อ และข้อสั่งการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด รวมถึงเตรียมพร้อมสรรพกำลัง เจ้าหน้าที่ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย สนับสนุนจังหวัดที่มีสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ในการควบคุมสถานการณ์ แก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบที่มีต่อประชาชน ซึ่งปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 ไปประจำการ ณ ฐานปฏิบัติการกองพลทหารราบที่ 7 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 ลำ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการดับไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยวานนี้ (5 ก.พ. 68) เฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 พร้อม The Guardian Team ได้ขึ้นบินปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย จ.ตาก โดยบินทิ้งน้ำรวมกว่า 10 เที่ยวบิน รวมปริมาณน้ำที่ทิ้งกว่า 30,000 ลิตร
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะติดตามสถานการณ์และรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ทาง Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ X @DDPMNews หากประชาชนต้องการแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือ สามารถแจ้งเรื่องได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” @1784DDPM ได้ตลอด 24 ชั่วโมง"