"คนส่วนน้อย" เปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร

"คนส่วนน้อย" เปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร

คนส่วนใหญ่ (Majority) ในสังคม คือคนที่มีสถานะทางสังคมมั่นคงกว่า มีความเชื่อแบบประเพณีนิยม จารีตนิยม ที่พยายามคงสถานภาพเดิมมากกว่าคนส่วนน้อย (Minority)

แต่ในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์เจริญก้าวหน้าได้เริ่มจากมีคนส่วนน้อยบางคน บางกลุ่ม ที่คิด เชื่อ แตกต่างไป พวกเขาพยายามเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่มองว่าเป็นทางเลือกใหม่ ที่จะทำให้สังคมเกิดความเป็นธรรมและเจริญก้าวหน้ากว่า

การปฏิวัติอเมริกันหรือสงครามกู้เอกราชของสหรัฐจากเจ้าอาณานิคม, การปฏิวัติประชาธิปไตยฝรั่งเศส, การปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซีย ล้วนเริ่มมาจากคนส่วนน้อยที่เอาการเอางาน มีความเชื่อมั่นในแนวคิดอุดมการณ์และทำงานเผยแพร่แนวคิดนั้นอย่างคงเส้นคงวา สามารถชักชวนประชาชนมาร่วมมือได้มากพอที่จะเอื้ออำนวยให้การปฏิวัติสำเร็จได้

การเลิกทาสในยุโรป สหรัฐ และที่อื่นๆ การเรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิงออกเสียงเลือกตั้งได้ในอังกฤษ สหรัฐ การเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างคนผิวสีและคนผิวขาวในสหภาพแอฟริกาใต้และสหรัฐ ฯลฯ ต่างเริ่มมาจากคนกลุ่มน้อย

คนที่ต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเหล่านี้ ส่วนหนึ่งคือคนที่มีส่วนได้เสีย ต่อสู้เพื่อตัวเองและพวกพ้องของเขา ส่วนหนึ่งมาจากปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่สนับสนุนเรื่องสิทธิความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม

ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักจิตวิทยาสังคมทำงานวิจัยและเขียนบทวิเคราะห์เรื่อง อิทธิพลของคนกลุ่มน้อย (Minority Influence) กันมากขึ้น พวกเขาพบว่า มีบางกรณีที่คนกลุ่มน้อยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีเงื่อนไขที่เหมาะสมที่ทำให้คนส่วนใหญ่เห็นคล้อยตามคนกลุ่มน้อยผู้ริเริ่มได้ในระดับหนึ่ง

เงื่อนไขที่สำคัญที่นักจิตวิทยาสังคมมองว่าทำให้คนส่วนน้อยมีอิทธิพลโน้มน้าวคนอื่นๆ ได้ คือ

1.คนส่วนน้อยต้องเชื่อมั่นตัวเองสูงและเสนอแนวคิดใหม่ของตนอย่างยืนหยัด คงเส้นคงว่า

2.ต้องมีข้อมูลใหม่ที่จูงใจพอที่ชวนให้คนอื่นๆ ต้องคิดพิจารณาทบทวนความคิดความเชื่อเดิมของตนเอง

3.ผู้เสนอต้องแสดงว่าพวกตนมีเหตุผล มีความใจกว้าง ที่จะรับฟังเหตุผล ข้อมูลที่ต่างออกไป ไม่ใช่เสนอแบบสุดโต่งแบบตายตัวมากไป

การเสนอทางเลือกใหม่ของคนส่วนน้อย อาจจะเป็นได้ตั้งแต่เรื่องขนาดย่อย เช่น การปฏิรูปวิธีการทำงานในองค์กร ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น การฟื้นฟูอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การปฏิรูปทางเศรษฐกิจการเมือง ที่เน้นสิทธิความเสมอภาคประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

นักบริหารองค์กรที่มีความคิดเสรีประชาธิปไตยแบบสมัยใหม่เริ่มเข้าใจว่า การเปิดโอกาสให้คนส่วนน้อยแสดงออกความคิดที่แตกต่างไปจากความคิด ความเชื่อกระแสหลัก จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่น่าจะนำไปประยุกต์ใช้ปรับปรุงองค์กรได้ดีขึ้น แม้ข้อเสนอของคนบางคนหรือคนส่วนน้อย จะไม่ได้ถูกยอมรับทั้งหมดก็ตาม

นักจิตวิทยามองว่า การที่คนส่วนน้อยจะเสนอความคิดใหม่ให้คนอื่นๆ ยอมรับได้ เป็นเรื่องที่ยากลำบากแต่ก็มีความเป็นไป โดยต้องใช้ระยะเวลาบ่มเพาะ เพราะคนเราต้องใช้เวลาคิด เวลาย่อยความคิดใหม่

รวมทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไปจริงๆ ก็มีส่วนช่วยให้คนที่มีการศึกษา รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ คิดพิจารณาทบทวนและค่อยๆ ยอมรับเรื่องความคิดใหม่ๆ ที่เขาเริ่มเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากขึ้นตามลำดับ

เช่น การฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น หรือการมีอคติต่อคนผิวสีลดลง เพราะในโลกจริงพวกผิวสีประสบความสำเร็จในเรื่องการเรียนและการทำงานมากขึ้นด้วย

เมื่อชนชั้นนำที่มีชื่อเสียงหรือเป็นผู้นำทางความคิดอยู่ บางคนเกิดยอมรับแนวคิดใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม เขาจะช่วยให้คนอื่นๆ ที่เชื่อถือเขาอยู่พลอยยอมรับแนวคิดใหม่ตามไปได้ด้วย นักจิตวิทยาบอกว่าคนที่เปลี่ยนความคิดไปรับสิ่งใหม่ๆ ได้นั้นมักจะคิดว่าเขาเป็นคนคิดเอง เปลี่ยนไปเอง ไม่ได้คิดตามคนอื่น

คำอธิบายทางจิตวิทยาสังคมอาจเป็นจริงส่วนหนึ่ง แต่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ สังคม บางอย่างอาจสำเร็จได้ เพราะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น

การต่อสู้เรียกร้องของคนงานที่ทำให้รัฐบาลส่วนใหญ่ลดเวลาทำงานของคนทำงานมาเหลือวันละ 8 ชั่วโมง การให้ค่าจ้างผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย การให้สิทธิลาคลอด การประกันสังคมและสวัสดิการต่างๆ นั้นเกิดขึ้นได้ เพราะขบวนคนงานในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศอุตสาหกรรมใหม่ต่อสู้เรียกร้องมาช้านาน

การที่รัฐบาลและนายทุนยอมรับได้นั้น นอกจากเพื่อประนีประนอมกับขบวนการแรงงานแล้ว พวกเขายังมองการณ์ไกลว่าการปฏิรูประบบการจ้างงาน จะป้องกันการปฏิวัติแบบสังคมนิยมและทำให้ทุนนิยมเติบโตได้ดีกว่า

(ส่วนหนึ่งคือพวกนายทุนประเทศที่รวยแล้วสามารถไปเอาเปรียบแรงงานและทรัพยากรจากประเทศในโลกที่สามได้มากพอ ที่จะเอามาจ่ายให้คนงานในประเทศของตนได้เพิ่มขึ้นด้วย)

ในไทยนั้น ทั้งชนชั้นผู้ปกครองและคนส่วนใหญ่ยังหัวเก่า จารีตนิยม อำนาจนิยม ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงหรือแม้แต่การปฏิรูปในบางเรื่องอยู่มาก เราต้องศึกษาทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และด้านจิตวิทยาสังคมของไทยให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งมากพอ

คนส่วนน้อยที่คิดแบบก้าวหน้ากว่าจึงจะสามารถหาวิธีนำเสนอความคิดใหม่ ทางเลือกใหม่ที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ที่ยังคงเป็นพวกหัวเก่าหรือพวกกลางๆ อยู่ สนใจ เข้าใจว่าของใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อเขาและลูกหลานของเขาในระยะยาวได้อย่างไร

ในยุคเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” คนส่วนน้อยริเริ่มการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่คนส่วนใหญ่สนับสนุน เพราะเราอยู่ในยุคเผด็จการทางทหารที่ล้าหลังและสร้างปัญหาหลายอย่างอย่างเห็นได้ชัด

แต่หลังจากได้เป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาแล้ว พวกนักศึกษาประชาชนหัวก้าวหน้าสนับสนุนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมให้กระจายถึงคนชั้นล่างอย่างเป็นธรรม มากกว่าที่พวกเจ้าที่ดินใหญ่ นายทุนหัวเก่าจะยอมรับได้ พวกเขาจึงปราบปรามขบวนการนักศึกษาปัญญาชนในช่วง 6 ต.ค.2519

คนกลุ่มน้อยที่อยากปฏิรูปสังคมไทยจึงต้องฉลาด ยืดหยุ่นพลิกแพลง ทำงานหนัก ใจเย็น อดทน ใช้เวลายาวนานมากขึ้น โดยควรจะคำนึงถึงเงื่อนไข 3 ข้อที่นักจิตวิทยาสังคมเสนอไว้เป็นด้านหลัก

“อย่าสงสัยเลยว่าพลเมืองที่ช่างคิดและมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงกลุ่มเล็กๆ นี้ จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้หรือไม่ เพราะจริงๆ แล้ว มันคือวิถีทางเดียวที่โลกเคยเปลี่ยนแปลงมา” มากาแร็ต มี้ด อาจารย์ด้านมานุษยวิทยา สตรีชาวอเมริกัน