"Revolving Door" กับคอร์รัปชัน | กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

"Revolving Door"  กับคอร์รัปชัน | กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในการย้ายงาน การเปลี่ยนงานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยปกติทั่วไปอยู่เสมอ แต่บางครั้งการเปลี่ยนงานอาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ หากงานเก่าและงานใหม่มีความเกี่ยวข้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

KEY

POINTS

  • “Revolving door” แปลตรงตัวว่า ประตูหมุน คำเปรียบเปรยหมายถึงการย้ายงานหรือเปลี่ยนงานของบุคลากรระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
  • “Revolving door” อาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ หากงานเก่าและงานใหม่มีความเกี่ยวข้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 
  • ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ออกมาตรการป้องกัน เช่น ข้อกำหนดให้เว้นวรรคการทำงานก่อนเริ่มต้นงานใหม่ หากเคยดำรงตำแหน่งที่สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้

 

  • **หมายเหตุ : Key Points สรุปโดยกองบรรณาธิการ 

ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในการย้ายงาน การเปลี่ยนงานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยปกติทั่วไปอยู่เสมอ แต่บางครั้งการเปลี่ยนงานอาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ หากงานเก่าและงานใหม่มีความเกี่ยวข้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เช่น อาจมีการใช้ข้อมูลจากที่ทำงานเดิมเพื่อประโยชน์ในที่ทำงานใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น หากที่ทำงานเก่าหรือที่ทำงานใหม่เป็นองค์กรภาครัฐ ผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากหน้าที่การงานภาครัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ย่อมถือเป็นการคอร์รัปชัน

ดังนั้น การที่อดีตเจ้าหน้าที่ภาครัฐไปทำงานให้ธุรกิจเอกชน หรือการแต่งตั้งอดีตพนักงานบริษัทเอกชนมาเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวังและป้องกันไม่ให้มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเจ้าหน้าที่ภาครัฐดำรงตำแหน่งที่มีบทบาทในการกำหนดกฎเกณฑ์ ควบคุม หรือกำกับดูแลธุรกิจเอกชน

การเปลี่ยนงานระหว่างภาครัฐและเอกชนของบุคลากรนี้รู้จักกันในชื่อ “Revolving door” ที่แปลตรงตัวว่า ประตูหมุน ที่เรามักเห็นตามทางเข้าอาคารสถานที่ต่างๆ เป็นการเปรียบเปรยถึงการหมุนเวียนเข้าและออกจากองค์กร อันที่จริงแล้ว การหมุนเวียนบุคลากรระหว่างภาครัฐและเอกชนมีข้อดีหลายประการ

ประการแรก พนักงานและผู้บริหารที่มีความรู้และประสบการณ์จากการทำงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ย่อมสามารถเห็นภาพกว้าง และเข้าใจมุมมองของทั้ง 2 ฝั่งมากขึ้น ช่วยให้การตัดสินใจต่างๆ ดีขึ้น และช่วยให้การประสานงานระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชนราบรื่นขึ้น

ประการที่สอง การเปิดกว้างของตลาดแรงงาน เป็นการใช้ทรัพยากรบุคคลในระบบเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์และไม่สูญเปล่า พนักงานภาครัฐที่เกษียณอายุหรือหมดวาระการดำรงตำแหน่งแล้วแต่ยังมีความรู้ ความสามารถ หากมีโอกาสทำงานในองค์กรเอกชนในบทบาทต่างๆ ทั้งการเป็นพนักงานประจำ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา หรือกรรมการบริษัท รวมถึงการไปเปิดกิจการธุรกิจของตนเอง ย่อมช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้ต่อ แทนที่จะต้องเลิกทำงานและออกจากตลาดแรงงานไป

อย่างไรก็ตาม Revolving Door ก็เปิดโอกาสให้เกิดการคอร์รัปชันจากผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยเช่นกัน

ประการแรก อดีตพนักงานเอกชนที่เข้ามาทำงานภาครัฐ อาจใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้อดีตเพื่อนร่วมงานหรืออดีตเจ้านายที่มีความสนิทสนมหรือมีบุญคุณกันมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากตำแหน่งปัจจุบันในภาครัฐมีส่วนในการออกนโยบาย กำกับตรวจสอบ หรือบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ ที่สามารถให้คุณให้โทษกับธุรกิจได้

ประการที่สอง ในทางกลับกัน อดีตพนักงานภาครัฐที่ไปทำงานให้องค์กรเอกชน ซึ่งรวมถึงการไปเปิดธุรกิจรับจ้างให้คำปรึกษาแก่บริษัทเอกชน อาจใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาครัฐที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไปที่ตนสามารถเข้าถึงและรับรู้ได้ในอดีต

\"Revolving Door\"  กับคอร์รัปชัน | กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่เฉพาะข้อมูลตัวเลขทางสถิติหรือข้อมูลในเอกสารราชการ แต่ยังหมายรวมถึงการทราบถึงกระบวนการทำนโยบาย ขั้นตอนการออกกฎระเบียบ การตัดสินใจของผู้บริหาร ตลอดจนการทราบถึงข้อจำกัดต่างๆ ของภาครัฐ เช่น ข้อจำกัดด้านบุคลากรและเทคโนโลยีที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีช่องโหว่ เป็นต้น

นอกจากนี้ อดีตพนักงานภาครัฐที่ไปทำงานให้บริษัทเอกชน อาจใช้ความสัมพันธ์กับอดีตเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องที่ยังทำงานในภาครัฐเพื่อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของตน เช่น การเข้าถึงข้อมูลลับ การได้รับเลือกให้ชนะประมูลโครงการภาครัฐ โดยเฉพาะการคัดเลือกที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ หรือการช่วยล็อบบี้จากบุคลากรภายในองค์กร (Lobbying from within)

ประการที่สาม Revolving Door ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับหน้าที่การงานในอดีตและปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังอาจเกี่ยวข้องกับการวางแผนการงานในอนาคตของพนักงานรัฐอีกด้วย เช่น

การที่บริษัทเอกชนสัญญาว่าจะจ้างพนักงานรัฐหลังจากเกษียณอายุ หรือหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงการสัญญาว่าจะแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริษัทหรือที่ปรึกษา โดยแลกกับผลประโยชน์ที่พนักงานรัฐสามารถเอื้อให้แก่ธุรกิจได้ในปัจจุบัน ย่อมทำให้เกิดการคอร์รัปชันได้เช่นกัน

นอกจากนี้ บริษัทเอกชนที่จ้างอดีตผู้บริหารองค์กรภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ อาจสร้างแรงจูงใจให้แก่พนักงานและผู้บริหารในปัจจุบันให้เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทดังกล่าว เพราะคาดหวังการจ้างงานในอนาคตภายหลังเกษียณหรือหมดวาระจากการดำรงตำแหน่งในภาครัฐ

\"Revolving Door\"  กับคอร์รัปชัน | กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

การที่ Revolving Door เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการย้ายงาน และอาจเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความเสี่ยงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นนั้น ทำให้การออกกฎเกณฑ์ควบคุมการทำงานของพนักงานรัฐหลังพ้นตำแหน่ง (Post-Public Employment) มีความท้าทาย เพราะต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียอย่างรอบด้าน

ในทางปฏิบัตินั้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศในกลุ่ม OECD และประเทศไทย จึงไม่ได้ห้ามอดีตพนักงานรัฐไม่ให้ทำงานกับธุรกิจเอกชนอย่างสิ้นเชิง แต่ได้ออกมาตรการมาเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน

มาตรการที่สำคัญได้แก่ ข้อบังคับให้มีช่วงเว้นวรรคการทำงานก่อนเริ่มต้นงานใหม่ หากเคยดำรงตำแหน่งที่สามารถก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ โดยเฉพาะตำแหน่งในหน่วยงานที่มีบทบาทในการกำกับและตรวจสอบภาคธุรกิจและภาคการเงิน อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับดังกล่าวไม่สามารถแจกแจงครอบคลุมทุกตำแหน่งในทุกหน่วยงานได้ รวมถึงระยะเวลาการเว้นวรรคก็อาจจะไม่ยาวนานเพียงพอ

ดังนั้น อีกแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ก็คือ การเปิดเผยข้อมูลการดำรงตำแหน่งต่างๆ ทั้งการเป็นลูกจ้าง ผู้บริหาร ที่ปรึกษา กรรมการ ผู้ถือหุ้น และคู่ค้าของอดีตพนักงานภาครัฐในบริษัทเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกิจการดังกล่าวมีธุรกรรมโดยตรงกับภาครัฐ หรืออยู่ภายใต้การกำกับและตรวจสอบโดยหน่วยงานของรัฐ

การเปิดเผยข้อมูลนี้เป็นการสร้างความโปร่งใส ทำให้ภาคประชาสังคมและสาธารณชนสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจาก Revolving Door

และเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันในสังคมลงได้.

\"Revolving Door\"  กับคอร์รัปชัน | กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์