ปมร้อนทุจริต ท้าทาย ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ฝ่าวิกฤติคอร์รัปชันไทย

ปมร้อนทุจริต ท้าทาย ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ฝ่าวิกฤติคอร์รัปชันไทย

ดังนั้นในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา มีรัฐบาลใหม่ นำโดย “เศรษฐา ทวีสิน” นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะมีมาตรการใด ๆ ก็ตามเพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวทุเลาหรือลดลงได้หรือไม่ รอดูได้จากผลคะแนน CPI ประจำปี 2566 กันต่อไป

9 ธ.ค.ของทุกปี คือวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล

โดยเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ภายใต้แนวคิด “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย ต้านโกง” โดยรัฐบาลส่ง “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ มาเป็นตัวแทน

“ภูมิธรรม” กล่าวตอนหนึ่งว่า นับจากนี้ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศภายใต้การนำของรัฐบาลจะยึดหลักนิติธรรมเพื่อให้ปัญหาทุจริตของประเทศไทยลดน้อยลงและมีความโปร่งใสเป็นธรรมและตรวจสอบได้มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพทางสังคมเพื่อเป็นพลังในการตรวจสอบทุจริต

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ฟื้นคืนความเชื่อมั่น ความโปร่งใสของการบริหารงานราชการทุกระดับ โดยการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม” ภูมิธรรม กล่าว

อย่างไรก็ดีแม้ฝ่าย “ภาครัฐ” จะพยายามสร้างภาพลักษณ์ “ขึงขัง” ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทว่ากลับถูก “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ “หัวหอก” ขุดคุ้ยเรื่องไม่ชอบมาพากล สวนกลับด้วยสถิติ โดยพบว่า ปัญหาการทุจริตของไทยนั้นที่ผ่านมาสูงกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท

"มาดูกันครับว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทย นั้นเป็นปัญหาที่ใหญ่โตขนาดไหน มูลค่าของการทุจริตคอร์รัปชั่นที่สูงกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งกระทรวง เป็น 3 เท่าของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเป็น 40 เท่า ของงบประมาณอุดหนุนการศึกษาให้กับเด็กยากจนพิเศษของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถอุดหนุนการศึกษาให้กับเด็กยากจนพิเศษ จำนวน 1.3 คน ให้ได้เรียนหนังสือจนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้ถึง 3 Generation เลยทีเดียว"

ปมร้อนทุจริต ท้าทาย ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ฝ่าวิกฤติคอร์รัปชันไทย

นายวิโรจน์ ระบุตอนหนึ่งว่า เงินจากการทุจริตคอร์รัปชั่นกว่า 3 แสนล้านบาท ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็งอกขึ้นมา แต่มันมาจากการรีดไถผู้ประกอบการสุจริต มาจาการเบียดบังเงินภาษีของประชาชน ทำให้ประชาชนต้องจำยอมรับสภาพกับสวัสดิการ สาธารณูปโภค และการพัฒนาที่ด้อยประสิทธิภาพ เมื่อนักลงทุนทราบว่าการลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย ต้องเตรียมเงินเอาไว้จ่ายส่วยสูงถึง 25%-30% ต้องถูกคุกคามจากมาเฟียข้ามชาติ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นลูกสมุน ใครเขาจะเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาลงทุน เมื่อไม่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้นวัตกรรมใหม่ๆ การจ้างงานทักษะสูง ก็จะไม่เกิดขึ้น พลเมืองไทยก็จะขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ประเทศก็จะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน และถดถอยสู่ความล้าหลังไปเรื่อยๆ 

เรียกได้ว่าเป็นการ “ตบหน้า” รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาฉาดใหญ่ รวมถึงกระทุ้งแรง ๆ ไปยัง “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” เพื่อหวังให้แก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเต็มกำลัง มิใช่ “ลูบหน้าปะจมูก” เหมือนหลาย ๆ รัฐบาลที่ผ่านมา

เมื่อย้อนดูผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) พบว่า ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ผลคะแนน CPI ของไทยตกลงมาโดยตลอด 

โดยปี 2560 ได้ 37 คะแนน ปี 2561-2563 ได้ 36 คะแนนเท่ากัน ปี 2564 ได้ 35 คะแนน และปี 2565 ขยับขึ้นมาเป็น 36 คะแนน โดยในปีดังกล่าวอยู่อันดับ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศอาเซียน

สำหรับประเทศที่มีคะแนน CPI 36 คะแนนเท่ากับไทย และอยู่อันดับ 101 ร่วมกัน เช่น อัลเบเนีย เอกวาดอร์ คาซัคสถาน ปานามา เปรู เซอร์เบีย ศรีลังกา และตุรกี

โดยในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา ไทยเคยได้คะแนน CPI สูงสุดที่ 38 คะแนน ระหว่างปี 2557-2558

ปมร้อนทุจริต ท้าทาย ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ฝ่าวิกฤติคอร์รัปชันไทย

หากโฟกัสผลคะแนน CPI ปีล่าสุดคือ 2565 ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ทำการวิเคราะห์อย่างจริงจังถึงผลคะแนนดังกล่าว (ยิ่งได้คะแนนมาก ยิ่งโปร่งใสเยอะ) โดยพบว่า ข้อมูลในส่วนการติดสินบนและการทุจริตมีอยู่หรือไม่ เพิ่มขึ้นเป็น 43 คะแนน จากปี 2564 ที่ได้ 39 คะแนน สะท้อนว่า ปัญหาการติดสินบนและการทุจริตได้ดีขึ้น อาจมีข่าวเรียกรับเงินสินบน แต่ภาพรวมของนักธุรกิจ และนักลงทุนมองว่า เรามีระบบที่มีการป้องกันและเอาจริงเอาจังกับการรับเงินสินบนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้คะแนนในส่วนภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด ได้ 45 คะแนน จากปีที่แล้วได้ 42 คะแนน ชี้ให้เห็นว่า เกี่ยวกับเรื่องการจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่าง ๆ ลดน้อยลงไป ไทยมีระบบป้องกัน หรือนำระบบต่าง ๆ มาใช้ป้องกันการเรียกรับสินบน

อย่างไรก็ดีคะแนนในส่วนระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากน้อยเพียงใด ได้ 35 คะแนน น้อยกว่าปีที่แล้วที่ได้ 36 คะแนน และคะแนนในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด ได้ 34 คะแนน น้อยกว่าปีที่แล้วที่ได้ 35 คะแนน

ปมร้อนทุจริต ท้าทาย ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ฝ่าวิกฤติคอร์รัปชันไทย

“นิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยสะท้อนให้เห็นว่า ภาพรวมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของไทย “ดีขึ้น” แม้จะเพิ่มขึ้นมาเพียงแค่ 1 คะแนนก็ตาม

“จากค่าคะแนนต่าง ๆ เข้าสู่บทวิเคราะห์ในมุมมองของผู้ประเมิน โดย TI มีข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ ว่า นานาประเทศควรให้ความสำคัญการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพทางสังคม ให้คนเข้าถึงข้อมูล การจำกัดการใช้อิทธิพลทางการเมือง เสริมสร้างความเข้มแข็งป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยประเทศที่มีคะแนน CPI สูง ควรให้ความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เรื่องสินบนข้ามชาติ และติดตามทรัพย์สินคืน” นิวัติไชย ระบุ

ทั้งหมดคือภาพรวมสถานการณ์ทุจริตของไทย ที่สะท้อนผ่านออกมาผ่านดัชนี CPI ซึ่งได้รับความน่าเชื่อถือระดับโลก ชี้ให้เห็นว่ายังคง “น่าเป็นห่วง”

ดังนั้นในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา มีรัฐบาลใหม่ นำโดย “เศรษฐา ทวีสิน” นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะมีมาตรการใด ๆ ก็ตามเพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวทุเลาหรือลดลงได้หรือไม่

รอดูได้จากผลคะแนน CPI ประจำปี 2566 กันต่อไป