จุฬาฯ-อุเทนถวาย ไม่มีใครใหญ่กว่ากฎหมายบ้านเมือง

จุฬาฯ-อุเทนถวาย ไม่มีใครใหญ่กว่ากฎหมายบ้านเมือง

กรณีทางกฎหมายระหว่างจุฬาฯ กับ สถาบันเทคโนโลยีตะวันออก (วิทยาเขตอุเทนถวาย) นั้น จบบริบูรณ์แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมาพิจารณาถึงสิทธิครอบครอง สิทธิการใช้ประโยชน์ อะไรกันอีก

แต่เรื่องที่ยังค้างคาใจและไม่จบสิ้นกระแสความ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะนำที่ดินภายหลังที่วิทยาลัยช่างก่อสร้างแห่งนี้ย้ายออกไปแล้ว นำไปทำประโยชน์อะไร และบ้างตั้งคำถามถึงจิตสำนึกของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันต่อการให้ความเคารพเชิดชูสถาบัน

ผมเขียนบทความนี้ในฐานะคอลัมนิสต์ประจำของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ และเป็นนักวิชาการธรรมดาคนหนึ่ง ไม่มีส่วนรู้เห็นและมิได้ไปก้าวก่ายแนวทางใดๆ ของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย แต่ด้วยความที่อยู่ในพื้นที่บริเวณนี้มายาวนานกว่า 40 ปี 

ตั้งแต่เป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อได้รับทุนทั้งจากรัฐบาลและจุฬาฯ ให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ยังคงกลับมาสอนหนังสือให้กับศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันมายาวนาน

อย่างน้อยสิ่งที่นำเสนอ ณ ที่นี้ มาจากประสบการณ์ตรง คำบอกเล่า รวมทั้งศึกษาค้นคว้างเท่าที่จะมีศักยภาพกระทำได้ ตามแนววิธีการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้นั่งเทียนเขียนข่าวหรือคิดฝันขึ้นมาเองแต่ประการใดเลย

ผมเคยเขียนบทความเรื่อง “เรื่องของจุฬาฯ ให้คนในจุฬาฯ ได้พูดบ้าง” เมื่อสักประมาณหกเจ็ดปีที่ผ่านมา เวลานั้นอาจเน้นไปที่เรื่องของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานฟุตบอลประเพณี กระทั่งอาจไปถึงขั้นล้มเลิกการจัดงานดังกล่าวที่มีมายาวนานกว่า 70 ปี

ในปี 2567 นี้ ทราบมาว่า การจัดการแข่งขันที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ จะเรียกเป็น “งานฟุตบอลสานสัมพันธ์ ของทั้งสองมหาวิทยาลัย” 

ในมุมของผมเองในฐานะศิษย์เก่า มองว่า ปัจจุบัน ตามข้อมูลของทบวงมหาวิทยาลัย ระบุว่า มีมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวน 83 แห่ง ที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ไม่นับรวมมหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยหรือสถาบนอื่นๆ ที่จัดเป็นมหาวิทยาลัย รวมกันกว่า 390 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้ง สถาบันช่างก่อสร้างอุเทนถวายที่จัดเป็นสถาบันอุดมศึกษาเช่นเดียวกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องการให้ตั้งสติพิจารณาว่า หากเป็นเมื่อ ปี 2477 ในการจัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลประเพณีกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองสถาบัน เพราะศิษย์เก่าของโรงเรียนสวนกุหลาบที่เข้ามหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งได้ริเริ่มจัดขึ้นมา (ที่มา สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยลอกเลียนวิธีการที่เรียกว่า Boat Race ระหว่างมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ในประเทศอังกฤษ เพราะมีเพียงสองสถาบันและลำดับขั้นความละม้ายคล้ายคลึงทั้งสาขาวิชาที่เปิดให้มีการเรียนการสอน และคนเด่นดังก็มีเพียงสองสถาบัน

จุฬาฯ-อุเทนถวาย ไม่มีใครใหญ่กว่ากฎหมายบ้านเมือง

แต่สำหรับประเทศไทยในเวลานี้ อาจยากที่จะใช้มาตรฐานตรงนี้ในการตัดสินวินิจฉัย หากไม่เทียบเคียงว่า อย่างไรแล้วก็คือการจัด “ฟุตบอลประเพณี กลายๆ” แต่เมื่อไม่ยอมรับก็ต้องเรียกเป็น สานสัมพันธ์ ก็ว่ากันไป 

ผมเองในฐานะศิษย์เก่าของทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ไม่รู้สึกรังเกียจว่าตนเองจะเชียร์ทีมไหน แต่ที่ไปเรียนทั้งสองมหาวิทยาลัยเพราะเวลานั้น มีสถาบันการศึกษาที่เป็น Higher Education หรือระดับอุดมศึกษา อยู่เพียงเท่านี้ที่เทียบเคียงกันได้ ไม่มีเหตุผลอื่นเลย นอกจากจะเทียบเคียงให้เห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ที่สืบสานกันมา 

เช่นเดียวกับที่ คนส่วนมากที่ไม่ทราบเรื่อง ก็มักกล่าวหา บริษัท ซิเมนต์ไทย มีปล่องควันโรงงานเป็น “สีชมพู” (สีสัญลักษณ์ของจุฬาฯ) เหตุเพียงเพราะเข้าใจว่า วิศวกร นายช่างใหญ่ ผู้บริหารระดับสูง มีแต่นิสิตเก่าจุฬาฯ โดยลืมไปว่า แต่ดั้งเดิมมา การเรียนการสอนในสาขาช่างระดับปริญญาตรีนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกนับแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัย

รวมทั้งสมัยก่อนยังมีการกระทบกระเทียบนิสิตจุฬาฯ ว่า “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” ทำได้เพียงชี้นิ้วสั่งงาน ความสู้งานหาได้ยากเพราะทำตัวเป็น “คนหนู ขี้น้อยใจ”

เรื่องทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ ผมได้เห็นคนที่ถูกเรียกว่า คุณหนูทั้งหลาย ปัจจุบันขึ้นเป็น ซีอีโอ เป็นผู้บริหารระดับสูงของหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนรวมไปถึงภาคการเมืองกระทั่งอาจมี “นายกรัฐมนตรี” จากจุฬาฯ คนแรกในอนาคตอันใกล้นี้

มิได้เป็นเพราะความฟลุค หรือ “โชคช่วย” แต่ละคนที่ผมรู้จักเป็นคนมีความรู้ ความสามารถ ส่วนจะดีจริงแท้แค่ไหน บางคนพอสัมผัสได้ บางคนเป็นเพียงคนรู้จักแบบฉาบฉวยไม่อาจสำทับรับรองได้

จุฬาฯ-อุเทนถวาย ไม่มีใครใหญ่กว่ากฎหมายบ้านเมือง

แต่เรื่องที่กำลังถกเถียงกัน นอกจากเรื่องฟุตบอลกระชับสัมพันธ์ ที่ต้องเอามาพูดเพราะเห็นว่ายังเห็นแย้งๆ กัน ยังจะมีอีกเรื่องสำคัญคือ การประท้วงกระทั่งยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งของ คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ที่ชี้ขาดกรรมสิทธิในที่ดินซึ่งมีพระราชบัญญัติรองรับในปี 2482 ว่าเป็นของจุฬาฯ 

และเวลาได้ผ่านมาเป็นแรมปีนับตั้งแต่ศาลสูงสุดได้มีคำพิพากษา แต่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ เพราะทาง “ช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน คณาจารย์ รวมไปถึงผู้ที่หลงประเด็นต่างนำเรื่องราวต่างๆ มาสร้างความชอบธรรมที่ดูจะ “ชอบกล” มากกว่า

เพราะมีกระทั่งขอให้พิจารณาที่ดินของ “ช่างก่อสร้างอุเทนถวาย” เป็น “มรดกโลก” แถมด้วยการกล่าวไปถึงคำถามที่ว่า “จุฬาฯ อาจนำที่ดินที่ได้นี้ไปสร้างศูนย์การค้า” ซึ่งได้ยินข้อกล่าวหานี้มาเนิ่นนานพอสมควร

แต่จำได้ว่า มหาวิทยาลัยเองเคยมีการแถลงโดยอดีตอธิการบดี นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล ว่า ต้องการนำไปสร้างเป็นศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อชุมชน เมื่อหลายปีก่อน ส่วนนโยบายปัจจุบันคงเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นคงไม่อยู่ว่า “เป็นคนเหมือนกัน” คนจุฬาฯ หรือคนที่ไหนใหญ่กว่าใคร แต่ที่สำคัญคือ ประเทศไทยนับแต่ผมได้ไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญ เราต้องการเห็นความศิวิไลซ์ทางพฤติกรรมและสติปัญญาของคนที่ต้องเคารพกฎหมาย และปฏิบัติตามคำสั่งศาล

เมื่อมีการพิสูจน์ทราบทั้งทางพยานหลักฐานและมีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ หากยังต้องการให้บ้านเมืองอยู่บนหลักนิติธรรม ทุกฝ่ายจะต้องเคารพและปฎิบัติตามกฎหมายโดยไม่มีเงื่อนไข.