พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 2 จว.ภาคตะวันออก บูรณาการแก้ปัญหา มั่นใจรอดแล้งนี้ 

พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 2 จว.ภาคตะวันออก บูรณาการแก้ปัญหา มั่นใจรอดแล้งนี้ 

สทนช. เกาะติดพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 2 จังหวัดภาคตะวันออก บูรณาการแก้ปัญหาเร่งด่วน-ระยะยาว มั่นใจรอดแล้งนี้ 

สทนช. ลงพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง จ.จันทบุรี-ตราด ทั้งพื้นที่ต้นน้ำและปลายน้ำ เร่งประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนแผนแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำเค็มรุกล้ำในระยะเร่งด่วน มั่นใจผ่านฤดูแล้งนี้ได้อย่างแน่นอน ส่วนระยะยาวที่จะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ เสริมความมั่นคงให้น้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน พร้อมเร่งรัดปรับปรุงฝายป้องกันน้ำเค็มรุกตัว และขยายระบบประปาภูมิภาคช่วงปลายน้ำ มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตดีขึ้นให้กับประชาชน  

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยเนื่องในโอกาสลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภัยแล้ง ในพื้นที่ จ.จันทบุรีและตราดว่า  ในพื้นที่ จ.จันทบุรี มีเฝ้าระวังเสี่ยงภัยแล้งบริเวณ อ.สอยดาว และ อ.โป่งน้ำร้อน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี สาเหตุมาจากพื้นที่มีแหล่งเก็บน้ำต้นทุนน้อย แต่ความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นจากประชากรแฝงในรูปแบบแรงงานที่มีจำนวนมาก ประกอบกับเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกทุเรียน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการน้ำเพื่อการเติบโตตลอดทั้งปีมากขึ้น ผนวกกับเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ปีนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง

 อย่างไรก็ตาม สทนช.ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำ จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กรมพัฒนาที่ดิน หน่วยงานทหารในพื้นที่ เป็นต้น เข้าไปช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนแล้ว โดยในพื้นที่ ต.สอยดาว และ ต.ทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ได้มอบให้ กปภ.ขยายพื้นที่ให้บริการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงวิกฤต ส่วนที่ ต.คลองใหญ่ ต.หนองตาคง ต.โป่งน้ำร้อน ต.ทับไทร ต.เทพนิมิต อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเตรียมสูบน้ำจากบริเวณท้ายน้ำของอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การ 54 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มาเติมในคลองโป่งน้ำร้อน ตามความเหมาะสม สำหรับใช้ในการผลิตน้ำประปาและเพื่อการเกษตร เพื่อแก้ไขผลกระทบภัยแล้งในเบื้องต้น จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนในเดือนมิถุนายน 2567  

 นอกจากนี้ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อให้ความช่วยเหลือผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำได้ทันสถานการณ์ พร้อมทั้งให้เร่งดำเนินการขุดลอกลำน้ำที่มีความตื้นเขินและเร่งสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อพิจารณาเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม 

 สำหรับแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะยาวในพื้นที่ต้นน้ำคือ การเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำ อาทิ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเครือหวาย ความจุ 14 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินการโดยกรมชลประทาน โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองตาดำ ความจุ 5 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำ โดยทั้ง 2 โครงการจะเริ่มดำเนินการในปี 2568 เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาภัยแล้งให้ประชาชนทั้ง 2 อำเภอได้รวมมากกว่า 10,000 ครัวเรือน ช่วยพื้นที่เกษตรไม้ผลได้มากกว่า 70,000 ไร่ และยังสามารถส่งน้ำลงมายังพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ นอกจากนี้ ยังมีโครงการอ่างเก็บน้ำเขาพูลทองและโครงการอ่างเก็บน้ำคลองตาพลายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งอยู่ในระหว่างการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำให้ประชาชนและเกษตรกรตลอดทั้งลำน้ำ ส่วนพื้นที่ปลายน้ำเป็นที่ตั้งของตัวเมืองจันทบุรี ซึ่งเป็นเขตชุมชนอาศัย 

รวมทั้งมีพื้นที่สวนทุเรียนด้วยนั้น ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในคลองสายหลัก เช่น คลองน้ำใสและคลองท่าช้าง ส่งผลต่อคุณภาพน้ำและปริมาณน้ำต้นทุน เนื่องจากฝายที่กั้นน้ำเค็มรุกล้ำก่อสร้างมานาน เกิดความชำรุด ไม่สามารถป้องกันน้ำเค็มรุกตัวได้ ในทุกปีได้  ทั้ง นี้ได้ดำ เนินการแก้ไขเฉพาะหน้าโดยการนำกระสอบทรายกั้นลำน้ำในฤดูแล้ง และนำกระสอบทรายออกเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก สทนช.จึงได้เร่งประสานกับกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำเพื่อดำเนินการปรับปรุงฝายในลำน้ำหลักทั้ง 2 คลอง ให้สามารถใช้ป้องกันน้ำเค็มและกักเก็บน้ำในพื้นที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงเร่งประสานงานกับกปภ.และ อปท. ที่ดูแลระบบประปาหมู่บ้านให้ร่วมวางแผนการใช้น้ำให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ด้วย 

 รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ส่วน จ.ตราด แม้จะเป็นจังหวัดที่มีปริมาณฝนมากที่สุดของประเทศ แต่กลับมีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภัยแล้งในเขต อ.เขาสมิง โดยเฉพาะ ต.ทุ่งนนทรี ต.เขาสมิง ต.วังตะเคียน ต.เทพนิมิต และ ต.แสนตุ้ง ซึ่งเกษตรกรต้องการน้ำต้นทุนเพิ่ม เนื่องจากสวนทุเรียนอยู่ในช่วงออกผลผลิตทำให้มีความต้องการใช้น้ำสูง จึงได้เร่งประสานกับกรมชลประทานและ ปภ. เพื่อสูบน้ำจากประตูระบายน้ำเขาสมิงมาสู่คลองระยั้ง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของทั้ง 5 ตำบลดังกล่าว โดยการใช้งบประมาณของ อปท.ในพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับเกษตรกร 

ส่วนปัญหาการส่งน้ำและการกระจายน้ำเข้าพื้นที่ในระยะเร่งด่วน ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยดูระบบและการต่อท่อเพื่อให้การระจายน้ำเป็นไปอย่างทั่วถึง สำหรับระยะยาวได้มอบให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ กรมชลประทาน จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนหลักการพัฒนาลุ่มน้ำเขาสมิงและลุ่มน้ำอื่นๆ ในเขต จ.ตราด โดยขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง และในปี 2569 จะสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสะตอ ที่จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนหลักของ อ.เขาสมิง ทั้งอำเภอ พร้อมทั้งจะมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำและระบบกระจายน้ำให้กับลุ่มน้ำต่างๆ ให้ครอบคลุมในพื้นที่จ.ตราด ด้วย ซึ่งจะเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำให้กับในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน 

 “สทนช. ได้เร่งขับเคลื่อนบูรณาการประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งมั่นให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ใน จ.จันทบุรีและตราด ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนมีน้ำใช้ที่สะอาดและได้มาตรฐาน ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน  เงาะ ลองกอง ลำไย จะได้มีน้ำต้นทุนในการทำการเกษตรอย่างเพียงพอจนสิ้นสุดฤดูแล้งนี้ได้อย่างแน่นอน ซึ่งต่อจากนี้ สทนช.จะได้เร่งติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ทั้ง 3 ลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกที่เราได้ลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทั้งลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำชายฝั่งตะวันออก ไว้ให้ได้มากที่สุด รวมถึงติดตามการดำเนินการให้สามารถกระจายน้ำสะอาดไปสู่ทุกพื้นที่โดยทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนทุกครัวเรือนมั่นใจว่าจะมีน้ำสะอาดและเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลเศรษฐกิจมีความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการเกษตรยั่งยืนต่อไป” รองเลขาธิการ สนทช.กล่าวในที่สุด