ประธานบอร์ด กยท. มั่นใจราคายางทะลุ 100 บาท

ประธานบอร์ด กยท. มั่นใจราคายางทะลุ 100 บาท

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานบอร์ด กยท. มั่นใจราคายางทะลุ100บาท เดินหน้าขับเคลื่อน7นโยบาย"อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน"

ดร.เพิก เลิศวังพง  ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.)  เปิดเผยถึงทิศทางนโยบาย กยท.ในปี 2567 ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่มีนโยบายที่จะแทรกแซงตลาดยางพารา แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไลของตลาด  โดย กยท.จะเป็นหนึ่งในกลไกที่เข้าไปเป็นผู้เล่นในตลาด  เพื่อที่จะรับซื้อยางในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับเกษตรกร  พร้อมทั้งจะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย 7 ด้านภายใต้แนวคิด "อยู่ได้  พอใจ  ยั่งยืน" ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

โดยแนวคิด "อยู่ได้" มี 2 ด้านด้วยกันคือ  สร้างปัจจัยการผลิตแบรนด์ "การยาง"  เพื่อลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง  โดยจะผลักดันให้ กยท.ทำปุ๋ยและเคมีภัณฑ์เกี่ยวกับการทำสวนยางภายใต้แบรนด์ "การยาง"  เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและสร้างรายได้ให้กับองค์กร จำหน่ายในราคาถูกมีคุณภาพได้มาตรฐานโดยในเบื้องต้นจะผลิต 100,000  ตัน ระยะแรกจำหน่ายในประเทศก่อนที่จะขยายไปตลาดต่างประเทศในอนาคต   ติดอาวุธทางความรู้และเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้เกษตรกรชาวสวนยาง  โดยจะส่งเสริม ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพและเหมาะสมสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ประธานบอร์ด กยท. มั่นใจราคายางทะลุ 100 บาท

ส่วนแนวคิด "พอใจ"  มีทั้งหมด 2 ด้านคือ  บริหารจัดการโรคใบร่วงอย่างจริงจัง  โดยบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ค้นคว้างานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาโรคใบร่วงอย่างเป็นระบบ  ซึ่งขณะนี้มีภาคเอกชนให้ความสนใจวิจัยร่วมกับ กยท. กว่า 20 บริษัท โดยจะทำเป็นแปลงสาธิตในการกำจัดโรคใบร่วง  ก่อนที่จะขยายผลไปสู่เกษตรกร  ออก"โฉนดไม้ยาง" ทุกพื้นที่ทั่วไทย  โดย กยท.จะเร่งทำการขึ้นทะเบียนต้นยาง เพื่อออกโฉนดไม้ยาง  พร้อมทั้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางให้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการอย่างเป็นเอกภาพ

  
และแนวคิด "ยั่งยืน" มี 3 ด้านคือ  สร้างตลาดยางมาตรฐานเดียวกันทุกท้องถิ่นทั่วไทย ที่รองรับกฏระเบียบที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) โดยจะผลักดันให้ 500 ตลาดยาง มีมาตรฐานรองรับระบบการซื้อขายยางของ กยท. สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ถึงสวนยางที่ปลูกว่ามีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมถึงการจัดการสวนยางพาราที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม สอดรับกับ EUDR  ซึ่งนอกจากจะเพิ่มมูลค่ายางพาราไม่ต่ำกว่า 3 บาท/กิโลกรัมแล้ว เกษตรกรยังสามารถขาย Carbon Credit ได้อีกด้วย  ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศผลิตยางที่มีมาตรฐานตามความต้องการของลูกค้า  


    นอกจากนี้ยังมีนโยบาย ผลิตยางล้อแบรนด์ "การยาง" รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นจากยางพารา ซึ่งจะดูดซับปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาดได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 400,000 ตัน พร้อมทั้้งบูรณาการและส่งเสริมงานด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และส่งเสริมสนับสนุนสถาบันเกษตรกรในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ที่มีศักยภาพสามารถต่อยอดได้  เน้นการทำตลาดแบบจริงจัง   พร้อมส่งเสริมให้ราคายางของ กยท. เป็นราคากลางของตลาดยางอย่างมีเสถียรภาพ   

    “จากนโยบายทั้ง 7 ด้านดังกล่าวภายใต้การบริหารงาานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ราคายางจะขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะขึ้นสู่เลข 3 หลักอย่างมีเสถียรภาพแน่นอน ซึ่งขณะนี้เพิ่งเริ่มต้น ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 จากที่เคยราคาต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้ขยับขึ้นมา  73 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว" ประธานบอร์ด กยท.กล่าวทิ้งท้าย