ผู้ยิ่งใหญ่ชนะขวัญใจมวลชน | บวร ปภัสราทร

ผู้ยิ่งใหญ่ชนะขวัญใจมวลชน | บวร ปภัสราทร

เมื่อ 10 ปีมาแล้ว มีบทความตีพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review กล่าวถึงผู้บริหารที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วสองแบบ คือผู้บริหารที่ทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่ The Castle กับผู้บริหารที่เป็นขวัญใจมวลชน Crowd Leader

คงเดาได้ไม่ยากว่าผู้ยิ่งใหญ่นั้นรวบสารพัดอำนาจในการบริหาร แม้ไม่ได้สั่งการเองทั้งหมดทุกเรื่อง แต่อำนาจตัดสินใจเรื่องสำคัญแทบทั้งหมดจะอยู่ในมือของผู้บริหาร เพียงแต่กระจายหน้าที่กำกับลงไปตามลำดับขั้นเพื่อควบคุมการงานให้เป็นไปอย่างที่ตนต้องการ 

ในขณะที่ขวัญใจมวลชนตัดสินใจทุกเรื่องโดยการมีส่วนร่วมของผู้คนร่วมงาน ช่วยกันคิดช่วยกันทำ เน้นการเพิ่มอำนาจการตัดสินใจให้กับคนร่วมงานตามแต่บทบาทที่ได้รับมอบหมาย คุยกันสื่อสารกันมากกว่าสั่งการ มีการใช้ดิจิทัลในการงานอย่างกว้างขวางเพื่อให้การงานโปร่งใส และเป็นที่รับรู้ทั้งผู้ร่วมงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 

จึงเป็นธรรมดาที่ขวัญใจมวลชนจะสร้างความผูกพันในการทุ่มเททำงานได้มากกว่าผู้ยิ่งใหญ่ และส่วนใหญ่การงานจะเดินหน้าไปได้รวดเร็วกว่าที่เดินหน้าภายใต้การกำกับของผู้ยิ่งใหญ่ 

เลยเชื่อกันว่า ต่อไปนี้คงเป็นยุคของผู้บริหารแบบขวัญใจมวลชน ประกอบกับเป็นช่วงที่ผู้นำสหรัฐใช้แนวทางนี้ในการบริหารอย่างประสบผลสำเร็จ แต่กลับมีการผกผันเกิดขึ้นในสมัยของผู้นำคนต่อมาที่หันกลับมาใช้แนวทางของผู้ยิ่งใหญ่ในการบริหาร ซึ่งน่าประหลาดใจว่าผลเป็นที่ถูกอกถูกใจของคนอเมริกันจำนวนมาก จนอาจได้กลับมาเป็นผู้นำอีกวาระในอนาคต 

ทำให้มีการศึกษากันว่าในสภาพแวดล้อมการงานแบบใด ที่ในวันนี้ที่โลกอยู่ภายใต้อิทธิพลสารพัดเรื่องจากเครือข่ายสังคม จนดูเสมือนว่า “ขวัญใจมวลชน” น่าจะประสบความสำเร็จได้มากกว่า แต่ผู้บริหารแบบผู้ยิ่งใหญ่กลับสร้างความสำเร็จได้ดีกว่า คล้ายๆ ว่า เข็มนาฬิกากำลังหมุนกลับทางเลยทีเดียว

ถ้าเป็นการงานที่การตัดสินใจเรื่องสำคัญผูกพันอยู่กับความเชื่อ มากกว่าความเป็นจริง ที่เคยทำต่อเนื่องกันมาไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แม้ว่าจะมีข้อมูลยืนยันว่าหนทางดั้งเดิมที่เคยทำมานั้นไม่มีประสิทธิผลเพียงพอในสภาพปัจจุบัน

สภาพการงานแบบนี้ต้องการผู้บริหารแบบผู้ยิ่งใหญ่ เพื่อลดเวลา ลดภาระในการถกเถียงเรื่องความเชื่อ แค่บอกว่าฉันสั่งให้ทำตามนี้เป็นอันยุติ 

การงานแบบนี้จึงมักเป็นโครงการระยะสั้น ไม่คิดอะไรยืนยาว การตัดสินใจเฉพาะหน้าเกิดขึ้นเป็นประจำ การรับฟังคนร่วมงานจึงแทบไม่มีความจำเป็น แค่หันไปถามผู้นำว่าเรื่องนี้เอาอย่างไร แล้วก็ว่ากันไปตามนั้น

โครงการระยะสั้นต้องการความสำเร็จแบบ Quick Win จึงไม่จำเป็นต้องคิดกันอย่างรอบคอบ ไม่ต้องช่วยกันระดมสมองว่าควรทำอย่างไร ถ้าได้ขวัญใจมวลชนมาบริหารงานแบบนี้ การงานจะเดินหน้าช้ามาก เพราะมัวแต่สื่อสารกันไปมาว่าทำไมยังต้องเดินหน้าแบบเดิมๆ

ถ้าการงานมีขั้นตอนการทำงานที่กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยอย่างละเอียด และให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดอย่างจริงจัง จะผิดพลาดในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไม่ได้ การงานมีลำดับขั้นตอนในการกำกับมากมายหลายระดับ มีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติมากมาย งานแบบนี้ต้องการผู้ยิ่งใหญ่มาบัญชาการว่าตรงนั้นทำอย่างนั้น

ตรงนี้ให้ทำอย่างนี้ มีรองผู้ยิ่งใหญ่ช่วยสั่งการไล่ไปตามลำดับชั้นของการทำงาน ไม่ต้องการให้มีส่วนใดทำอะไรที่แตกต่างไปจากที่สั่งให้ทำ 

นวัตกรรมเกิดขึ้นไม่ได้ในการงานแบบนี้ เพราะนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของส่วนอื่นๆ งานใครงานมัน แต่กำกับทุกผลผลิตโดยผู้ยิ่งใหญ่และทีมงาน

หากกำลังมีผู้บริหารที่เก่งไม่พอที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว หนทางเอาตัวรอดแบบประคองไปก่อนสำหรับผู้บริหาร คือ ทำทุกอย่างให้เป็นงานประจำ เคยทำอะไรก็ทำตามนั้นไปก่อน

อย่าทำโครงการใหม่ที่เป็นโครงการระยะยาว ทำแต่โครงการใหม่ระยะสั้น ซึ่งแน่นอนว่าที่ดีขึ้นไม่มี ที่แย่ลงมีเยอะ แต่งานก็ยังทำได้ต่อไป ไม่สะดุดหยุดลง แนวทางของผู้ยิ่งใหญ่จะเหมาะสมอย่างยิ่งกับผู้บริหารรู้ตัวว่าขีดความสามารถไม่พอ

เมื่อใดก็ตามที่เริ่มคิดถึงอนาคตในระยะยาว ท่านว่าให้เลิกพยายามเป็นผู้ยิ่งใหญ่ แต่ให้หันมาเป็นขวัญใจมวลชน ใส่ใจความคิดความเห็นของคนร่วมงานให้มากขึ้น ถ้าการงานเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คิดเป็นทีมรับมือการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า

แต่ต้องเป็นทีมคิดของขวัญใจมหาชน ไม่ใช่ทีมภายใต้การสั่งการของผู้ยิ่งใหญ่ ทีมของผู้ยิ่งใหญ่ระดมสมองไม่ได้ เพราะมีสมองเดียวคือสมองของผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น