มิจฉาชีพ ลวงทุกช่องทาง | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

มิจฉาชีพ ลวงทุกช่องทาง | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

มิจฉาชีพในปัจจุบันสามารถหลอกลวงได้ทุกรูปแบบ จากเดิมหลอกลวงทางข้อความโทรศัพท์ (SMS) เปลี่ยนมาเป็นโทรศัพท์แบบเจ้าหน้าที่รับสายโทรศัพท์ให้บริการลูกค้า (Call Center)

หรือแม้กระทั่งให้รับจดหมายลงทะเบียนแล้วให้สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อหลอกโอนเงิน พอคนเริ่มรู้ทันหันมาปลอมเอกสารราชการ หมายศาลปลอม หมายเรียกตำรวจปลอม ใบสั่งปลอม

การหลอกลวงดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำความผิดได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยง เพื่อประโยชน์ในอันที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ 

จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งให้คำนิยามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีไว้ว่า เป็นการกระทำหรือพยายามกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

เพื่อฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือกระทำความผิดฐานฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ

นอกจากนี้ ผู้ที่ช่วยเหลือมิจฉาชีพในการเปิดบัญชีหรือหมายเลขโทรศัพท์ก็มีความผิด กล่าวคือ ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้องหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน 

ทั้งนี้ โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 9)

ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด 

หรือผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 10 และมาตรา 11)

เมื่อสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ถือบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ว่าได้มีการทำธุรกรรมโดยบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวและเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล 

เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ ผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที และแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 72 ชั่วโมง

เมื่อมีการร้องทุกข์แล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการทำธุรกรรมไว้ทราบ และให้พนักงานสอบสวนพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากและบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความร้องทุกข์ 

หากไม่มีคำสั่งให้ระงับการทำธุรกรรมไว้ต่อไปภายในเวลาดังกล่าว ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมนั้น โดยการแจ้งข้อมูลหรือหลักฐานจะกระทำทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

ในกรณีที่กระทำทางโทรศัพท์ ให้ผู้ได้รับแจ้งบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรลงลายมือชื่อผู้รับแจ้ง และวันเวลาที่ได้รับไว้เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งส่งสำเนาให้ผู้แจ้งเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2566 มีระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการรับแจ้งความร้องทุกข์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการให้บริการหรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการดำเนินชีวิตตามวิถีใหม่ในสังคมปัจจุบัน โดยกำหนดให้ระบบรับแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ thaipoliceonline.com

ผู้แจ้งความร้องทุกข์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะต้องระบุชื่อและที่อยู่ของผู้แจ้งความร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิดที่กล่าวหา พฤติการณ์ต่างๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับ และจะต้องมีข้อความปรากฏด้วยว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม 

การกล่าวหานั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษครบถ้วนตามคำนิยามของคำร้องทุกข์ ตามมาตรา 2 (7) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยจะถือว่าเป็นคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อผู้แจ้งความร้องทุกข์ได้ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระบบรับแจ้งความออนไลน์ เพื่อยืนยันข้อความและข้อมูลในระบบรับแจ้งความออนไลน์แล้ว

จะเห็นได้ว่า อาชญากรรมทางเทคโนโลยีสามารถมาได้ทุกรูปแบบ เราควรช่วยกันระวัง ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดดังกล่าว โดยแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษหรืออย่างน้อยก็ระงับบัญชีหรือเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ในการกระทำผิด 

อย่าคิดว่าแจ้งความไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะจะเป็นการทำให้มิจฉาชีพลอยนวลและหลอกลวงผู้อื่นต่อไป