'อาจารย์เจษฎ์' ชี้ชัด! ไทยไม่ได้มี 'แร่ลิเทียม' มากเป็นอันดับ 3 ของโลก

'อาจารย์เจษฎ์' ชี้ชัด! ไทยไม่ได้มี 'แร่ลิเทียม' มากเป็นอันดับ 3 ของโลก

'อาจารย์เจษฎ์' ชี้ชัด! ไทยไม่ได้มี 'แร่ลิเทียม' มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เผยคำนวณตัวเลขคาดมีประมาณ 6-7 หมื่นตัน ไม่ใช่ 14.8 ล้านตัน

เรียกว่ากำลังเป็นประเด็นฮือฮาในสังคม กรณีมีการนำเสนอข่าวว่ามีการค้นพบ "แร่ลิเทียม" ในไทย ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รวมถึงยังค้นพบแหล่ง "แร่โซเดียม" ในพื้นที่ภาคอีสาน ปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก ซึ่งแร่ทั้งสองชนิดนี้ถือเป็นแร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100%

 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า 'ประเทศไทย พบแหล่งแร่ ที่มีธาตุลิเทียม จริง แต่ไม่น่าจะใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกนะครับ'

 

มีรายงานข่าวเผยแพร่กันอย่างน่าตื่นเต้นว่า "ข่าวดี พบแร่ลิเทียมในไทย ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เพิ่มศักยภาพผู้นำผลิตรถยนต์ EV ในอาเซียน" (เช่น จาก https://www.topnews.co.th/news/878414) ซึ่งก็นับว่าเป็นข่าวดีจริงๆ ครับ ที่เราค้นพบหินแร่ธาตุหายาก ที่กำลังเป็นที่ต้องการของทั้งในไทยเราเองและในต่างประเทศ อย่างเช่น ธาตุลิเทียม แต่ประเด็นคือ ไทยเรามีลิเทียมเยอะมาก ขนาดนับเป็นอันดับ 3 ของโลกเชียวหรือ

 

ผมว่านักข่าวน่าจะเข้าใจผิดกันนะครับ เพราะตัวเลข "14.8 ล้านตัน" ที่เป็นข่าวกันว่าเยอะเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น เป็นปริมาณของหินแร่ที่ชื่อว่า "หินเพกมาไทต์" ซึ่งมีธาตุลิเทียมปะปนอยู่ เฉลี่ย 0.45% และจะต้องนำมาถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาก่อน เมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้ว ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6-7 หมื่นตัน แค่นั้นเองครับ

 

ถ้าผมคำนวณหรือเข้าใจอะไรผิดพลาด รบกวนช่วยเข้ามาแลกเปลี่ยนอธิบายให้ฟังด้วยนะครับ

 

 

ตามรายละเอียดของข่าว ระบุว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียม ในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา / พบหินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาว หรือ "หินเพกมาไทต์" ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพา "แร่เลพิโดไลต์" สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียม มาเย็นตัวและตกผลึก จนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ "แหล่งเรืองเกียรติ" มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% (อยู่ในเกรดระดับกลาง) และ "แหล่งบางอีตุ้ม" ที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียด เพื่อประเมินปริมาณสำรอง / นอกจากนี้ ยังอาจจะพบได้ในอีกหลายแห่ง ในภาคใต้และภาคตะวันตก (จังหวัดราชบุรี) ที่ได้ออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมไป 6 ราย

 

ซึ่งรายงานข่าวยังอ้างต่อว่า แหล่งลิเทียมเรืองเกียรตินี้ เป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่ลิเทียม มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศโบลิเวีย และอาเจนตินา / หากได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่แล้ว (ในอีก 2 ปี) คาดว่าจะเริ่มทำเหมืองได้ และสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน

 

ซึ่งถ้าเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่า Tesla โมเดล S หนึ่งคัน ที่ใช้ธาตุลิเทียมสำหรับทำแบตเตอรี่ประมาณ 62.6 กิโลกรัม (อ้างอิง https://blog.evbox.com/ev-battery-weight) ถ้ามี 1 ล้านคัน ก็ใช้ลิเทียมไป 62.6 ล้านกิโลกรัม หรือเท่ากับ 62,600 ตัน แค่นั้นเอง

 

ซึ่งตัวเลข 6.26 หมื่นตัน นี้ก็ใกล้เคียงกับปริมาณของธาตุลิเทียมที่คำนวณจากหินเพกมาไทต์ จากแหล่งเรืองเกียรติ ปริมาณประมาณ 14.8 ล้านตัน  และมีเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% ซึ่งก็เท่ากับมีลิเทียมอยู่ 0.0666 ล้านตัน หรือ 6.66 หมื่นตัน

 

ทีนี้ ถ้าเอาตัวเลข 6.66 หมื่นตันเป็นตัวตั้ง ว่าประเทศไทย ณ ขณะนี้ มีปริมาณธาตุลิเทียมที่น่าจะผลิตออกมาได้จากหินเพกมาไทด์ ไปเทียบกับข้อมูลแหล่งลิเทียมของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ USGS หรือ สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประมาณการไว้ล่าสุด ในปี 2023 ที่ผ่านมา จะเห็นว่ายังห่างไกลจากประเทศ Top10 อื่นๆ เป็นอย่างมาก

 

ทั่วโลกมีแหล่งทรัพยากรธาตุลิเทียมประมาณ 98 ล้านตัน โดยอเมริกาใต้เป็นทวีปที่มีปริมาณทรัพยากรชนิดนี้มากที่สุด  เรียงลำดับจากมากไปน้อย  ได้ดังนี้:  โบลิเวีย 21 ล้านตัน; อาร์เจนตินา 20 ล้านตัน; อเมริกา 12 ล้านตัน; ชิลี 11 ล้านตัน; ออสเตรเลีย 7.9 ล้านตัน; จีน 6.8 ล้านตัน; เยอรมันนี 3.2 ล้านตัน; คองโก 3 ล้านตัน; แคนาดา 2.9 ล้านตัน; เม็กซิโก 1.7 ล้านตัน; สาธารณรัฐเชค 1.3 ล้านตัน; เซอร์เบีย 1.2 ล้านตัน; รัสเซีย 1 ล้านตัน; เปรู 880 000 ตัน; มาลิ 840 000 ตัน; บราซิล 730 000 ตัน; ซิมบับเว 690 000 ตัน; สเปน 320 000 ตัน; ปอร์ตุเกส 270 000 ตัน; นามิเบีย 230 000 ตัน; กานา 180 000 ตัน; ฟินแลนด์ 68 000 ตัน; ออสเตรีย 60 000 ตัน; และคาซักสถาน 50 000 ตัน (จาก https://pubs.usgs.gov/periodi.../mcs2023/mcs2023-lithium.pdf)

 

และถ้าดูจากลำดับประเทศที่ "ขุดเหมือง-ถลุงลิเทียม" ขึ้นมาได้จริงๆ แล้ว ก็ไม่ใช่ประเทศที่มีแหล่งแร่ลิเทียมเยอะที่สุด อย่างโบลิเวียและอาร์เจนตินา ด้วย แต่กลับเป็นออสเตรเลีย

 

จริงๆแล้ว ข่าวเกี่ยวกับการ "เปิดแหล่งลิเทียมภาคใต้คุณภาพสูง แหล่งผลิตแบตเตอรี่ EV แห่งใหม่ในอนาคต" นั้น มีมาตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนมกราคมแล้ว โดยเน้นเรื่องการผลงานวิจัยของ "ผศ.ดร.อลงกต ฝั้นกา" หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยแร่และศิลาวิทยาประยุกต์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่ศึกษาลักษณะเฉพาะและศักยภาพของแหล่งลิเทียมในจังหวัดพังงา (ดู https://www.springnews.co.th/keep-the-world/energy/846905) ซึ่งคณะผู้ศึกษาวิจัย ได้พบแหล่งลิเทียมอยู่ในรูปของแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมสูง เฉลี่ยประมาณ 0.4 % สมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก โดยเกิดจากการตกผลึกของแมกมา ที่ความสัมพันธ์กับหินแกรนิตที่กระจายตัวในพื้นที่ภาคใต้ และต่อเนื่องมายังพื้นที่อื่นๆ ของไทย มีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ดีบุกและธาตุหายาก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สามารถขยายผลสู่การ จึงน่ามีการสำรวจและพัฒนาทรัพยากรนี้ เพื่อกระตุ้นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ (อ่านรายละเอียดบทความวิจัย ได้ที่ https://www.frontiersin.org/.../feart.2023.1221485/full)

 

แต่ตอนนั้นไม่มีการกล่าวอ้างเรื่องที่ว่าแหล่งแร่ลิเทียมในไทยใหญ่เป็น "อันดับ 3 ของโลก" แต่อย่างไร พึ่งจะมามีอ้างกัน ก็ตอนแถลงข่าวช่วงสัปดาห์นี้เอง ไม่ทราบว่ามาจากไหนกัน เน้นอีกครั้งว่า ถ้าผมคำนวณหรือเข้าใจอะไรผิดพลาด รบกวนช่วยเข้ามาแลกเปลี่ยนอธิบายให้ฟังด้วยนะครับ

 

เพื่อเสริมความรู้เกี่ยวกับ "แหล่งแร่ลิเทียมในโลก" ก็ขอเอาข้อมูลเรื่องนี้ มาสรุปเล่าให้ฟังเพิ่มเติมด้วยครับ (อ้างอิงอยู่ด้านล่าง)

 

- ลิเทียม (Li) คือเป็นโลหะเบาที่สุดในโลหะทั้งมวล ทนความร้อนได้สูง และสามารถประจุพลังงานในแบตเตอรี่ได้เป็นปริมาณสูงมาก  ปัจจุบัน ลิเทียมเป็นส่วนประกอบหลักของเซรามิกชนิดทนความร้อน แก้ว อยู่ในแบตเตอรี่คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เครื่องฟอกอากาศ จาระบีหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ ฯลฯ และลิเทียมยังถูกนำมาใช้ในแบตเตอรี่ความจุสูง ชนิดประจุใหม่ได้เพิ่มมากขึ้น ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดที่กำลังเติบโต ได้ทำให้ความต้องการลิเทียมสูงขึ้น

 

- ทุกวันนี้ แม้ว่าการทำเหมืองลิเทียมจะมีอยู่ในเกือบทุกทวีป (ยกเว้นแอนตาร์กติกา หรือขั้วโลกใต้) แต่ปริมาณสำรองของลิเทียมทั้งหมดนั้น มากถึง 3 ใน 4 จะอยู่ในเขตที่ราบสูงอัลติปลาโน-ปูนา ซึ่งทอดยาว 1,800 กิโลเมตร ในเทือกเขาแอนดีส ทวีปอเมริกาใต้

 

- ทุกวันนี้ แหล่งที่มาใหญ่ๆ ของลิเทียมจะมี 2 แบบ คือจากแร่ในหินแข็ง และจากชั้นน้ำเกลือ (brine) โดยในหินแร่ที่มีลิเทียมเป็นส่วนประกอบ ก็เช่น แร่สปอดูมีน (Spodumene, LiAlSi2O6) และแร่เลพิโดไลต์ (Lepidolite, เรียกง่ายๆ ว่า ลิเทียมไมกา) โดยแร่พวกนี้ส่วนใหญ่จะเกิดร่วมอยู่ในสายเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินแกรนิตเนื้อหยาบ

 

- ส่วนอีกแบบ คือลิเทียมที่พบอยู่ในชั้นน้ำเกลือ (เรียกง่ายๆ ว่า ลิเทียมคาร์บอเนต) ซึ่งมีแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมอาณาบริเวณอยู่ใน 3 ประเทศลาตินอเมริกา (สามเหลี่ยมลิเทียม Lithium Trinagle) โดยแหล่งชั้นน้ำกลือที่มีลิเทียมนั้นพบอยู่หนาแน่นที่สุดในประเทศชิลี อาร์เจนตินา และโบลิเวีย ซึ่งชิลีได้เริ่มสกัดลิเทียมจากน้ำเกลือมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 และมีแหล่งที่ชื่อ “ซาลาร์เดอาตากามา” (Salar de Atacama) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลิเทียมแหล่งใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกาในปัจจุบัน

 

- แร่ในหินแข็ง เป็นแหล่งที่มาหลักของลิเทียมจนถึงทศวรรษ 1990 แหล่งแบบน้ำเกลือที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ก็เริ่มเข้ามาแทนที่ (ชิลีเริ่มผลิตลิเทียมจากน้ำเกลือในปี 1984 ต่อมาในปี 1991 มีการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน ในเชิงพาณิชย์ เป็นครั้งแรก)

 

- หากมองถึงกรรมวิธีการสกัดลิเทียม การแต่งแร่จากหินแข็งจะทำได้เร็วกว่า แต่แพงกว่า ส่วนการแต่งแร่จากน้ำเกลือ โดยทั่วไปมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่ใช้เวลานานกว่า

 

- แหล่งแร่ที่มีลิเทียมจะถูกขุดจากเหมือง ก่อนผ่านกระบวนการแยกแร่ โดยสินแร่จะถูกบดย่อย และแร่ลิเทียมถูกแยกมาเป็นหัวแร่ จากนั้นก็ผ่านกระบวนทางเคมี อาทิ การกรองด้วยกรดและการเผา ทำให้ได้สารที่มีองค์ประกอบหลักเป็นลิเทียม ระยะเวลาการผลิตแบบนี้น้อยกว่า 1 เดือน

 

- ส่วนในชั้นน้ำเกลือ บ่อที่ขุดเจาะลงไปจะสูบน้ำเกลือที่มีลิเทียม ขึ้นมาบนผิวดิน แล้วน้ำเกลือจะถูกเคลื่อนย้ายและตากอยู่ในบ่อพักหรือบ่อระเหย เพื่อทำให้ลิเทียมเข้มข้นขึ้น และแยกสิ่งปนเปื้อนออก จากนั้นนำน้ำเกลือเข้มข้นผ่านกระบวนการทางเคมีเพื่อให้ได้สารประกอบลิเทียม ซึ่งจะถูกกรองออกมา และทำให้แห้ง การผลิตแบบนี้ใช้ระยะเวลาราว 8-18 เดือน

 

- สำหรับในประเทศไทย มีบริษัทเอกชนดำเนินการสำรวจแร่ ลิเทียม ดีบุก ทังสเตน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี (เป้าหลักอยู่ที่ลิเทียมและดีบุก) ตามที่ได้รับอาชญาบัตรไปจาก กพร. ในบริเวณ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่ดีบุก มาช้านานเกิน 100 ปี โดยเทือกเขาหินแกรนิตที่เคยให้แร่ดีบุกนั้น จะมีสายของเพกมาไทต์และแร่เลพิโดไลต์ (หรือลิเทียมไมกา) แทรกอยู่ทั่วไป

 

- จากผลการเจาะสำรวจเมื่อเดือนมกราคม 2565 ใน 2 พื้นที่ศักยภาพ เขต อ.ตะกั่วทุ่ง ซึ่งเป็นขุมเหมืองดีบุกเก่า คือ พื้นที่แหล่งแร่เรืองเกียรติ (ตำบลกะไหล) และพื้นที่แหล่งแร่บางอิต๋ำ (ต.ถ้ำ) พบร่องรอยของสายแร่ต้นก่าเนิด ก็คือสายเพกมาไทต์-เลพิโดไลต์ ความยาวมากกว่า 500 เมตรเช่นเดียวกัน โดยแหล่งแร่เรืองเกียรติ สามารถประเมินค่าความสมบูรณ์ของแหล่ง มีค่าลิเทียมไดออกไซด์ (Li2O) 0.6 - 0.8% คิดเป็นปริมาณส่ารองเบื้องต้นประมาณ 5 - 10 ล้านตัน ส่วนแหล่งแร่บางอิต๋ำ ประเมินค่าความสมบูรณ์ของแหล่งที่ Li2O 0.6 - 0.8% คิดเป็นปริมาณส่ารองเบื้องต้นประมาณ 2 - 4 ล้านตัน

 

ข้อมูลจาก บทความเรื่อง GEO STORY : ธรณีเล่าเรื่อง. แลโลกลิเทียมที่ตะกั่วทุ่ง (๒). โดย รชฏ มีตุวงศ์. (https://www.dpim.go.th/service/download?articleid=14511...) และ บทความเรื่อง GEO STORY : ธรณีเล่าเรื่อง. แลโลกลิเทียมที่ตะกั่วทุ่ง (๓). โดย รชฏ มีตุวงศ์. (https://www.dpim.go.th/service/download?articleid=14604...)