ไทยพบแร่ลิเทียม 14.8 ล้านตัน ‘ผงาด’ ฮับอีวี

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่(กพร.) ระบุว่า ไทยมีแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงศักยภาพประเทศไทย ในการผลิตแร่ลิเทียมป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน ว่า ขณะนี้ประเทศไทย ถือว่าได้รับข่าวดีอย่างยิ่ง เพราะมีศักยภาพทั้งแร่ลิเทียม และไอออน ที่เป็นแร่หลักในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือแบตเตอรี่ อีวี หลังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่(กพร.) ระบุว่าไทยมีแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% และแหล่งบางอีตุ้ม ที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง และเมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แจ้งว่าไทยมีศักยภาพของแร่ไอออนในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองจำนวนมากเช่นกัน

“กรณีประเทศอื่นในอาเซียนที่พบแร่ ส่วนใหญ่เป็นแร่นิกเกิล และอื่นๆ จนมีข่าวว่าค่ายรถอีวีเข้าไปลงทุน ซึ่งแร่ดังกล่าวไม่ใช่แร่หลักในการผลิตแบตเตอรี่ อีวี แต่ของไทยถือเป็นแร่หลักทั้ง 2 ชนิด ดังนั้นถือว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ภาครัฐควรเร่งสนับสนุนทั้งการสำรวจ การผลิต ไปจนถึงดึงนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เพื่อให้ไทยเป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาค เชื่อหากเดินหน้าจริงจัง จะเห็นการลงทุนทั้งซัพพลายเชนที่เป็นรูปธรรมภายใน 5 ปีนี้ ฐานผลิตนี้จะสอดรับกับเป้าหมายการเป็นฐานผลิตรถยนต์อีวีของภูมิภาค จนทำให้อุตสาหกรรมอีวีของไทยโดดเด่นทั้งการผลิตแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้า” นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตแบตเตอรี่ อีวีเข้าลงทุนไทยแล้ว 7 ราย ประกอบด้วย 1.โรงงาน HASCO-CP BATTERY SHOP บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอ็มจี 2. บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA 3.บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด กับเทคโนโลยี เบลด แบตเตอรี 4.บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด

 

5.บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด ผลิตร่วมกับ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด(เครือ ปตท.) 6.บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด และ7.ซีเอทีแอล หรือ Contemporary AmperexTechnology Co., Ltd (CATL) ผู้ผลิตแบตเตอรี่ อีวีชั้นนำของโลกของจีน ร่วมกับ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด เครือ ปตท.

“การเข้าลงทุนดังกล่าวเกิดจากนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนอุตสาหกรรมอีวีในไทย ที่ชัดเจนผ่านมาตรการอีวี 3.0 ที่ให้ส่วนลดผู้ซื้อรถอีวีสูงสุดไม่เกิน 150,000 บาท ดำเนินการปี 2565-2566 และปัจจุบันมีมาตรการอีวี 3.5 ที่ให้ส่วนลดสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อตัน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์อีวีในไทยสูงขึ้นมากตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดยอดจดทะเบียนป้ายแดงอีวี 100% ปีที่ผ่านสูงถึง 75,000 คัน สูงกว่าเป้าหมายที่ส.อ.ท.ประเมิน 60,000 - 70,000 คัน

“คาดว่าปีนี้มีโอกาสแตะถึง 100,000 คัน การเติบโตนี้ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์อีวี นอกจากตั้งโรงงานผลิตรถอีวีแล้ว ยังเข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ อีวีด้วย และยังกระตุ้นให้ผู้ผลิตเฉพาะแบตเตอรี่ อีวีตั้งโรงงานด้วยเช่นกัน” นายสุรพงษ์ กล่าว

รายงานข่าวจาก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่(กพร.) ระบุว่า ปัจจุบัน กพร.ได้ออกอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ผลการสำรวจพบว่า หินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาวหรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียมมาเย็นตัว และตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียดเพื่อประเมินปริมาณสำรอง

โดยลิเทียมจากแหล่งเรืองเกียรติ หากมีการอนุญาตประทานบัตรเพื่อทำเหมือง คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน ที่สำคัญคือ เทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเทียมในปัจจุบันสามารถควบคุม และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์