งบการเงินและคดีที่มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง

งบการเงินและคดีที่มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง

พ.ร.บ.การบัญชี ปี 2543 กำหนดให้ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายจากต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในไทย กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากรเป็น “ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี”

ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีดังกล่าวต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชีที่คุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าประกาศกำหนด โดยผู้ทำบัญชีต้องทำบัญชีเพื่อให้มีการแสดงผลการดำเนินงานตามความเป็นจริงตามมาตรฐานการบัญชี สำหรับมาตรฐานการบัญชีอยู่ในความรับผิดชอบและเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพบัญชีเป็นผู้กำหนด

ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ต้องจัดทำงบการเงินและยื่นงบการเงินต่อสำนักงานกลางบัญชี คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานบัญชีประจำท้องที่ คือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในต่างจังหวัดทุกจังหวัด โดยงบการเงินนั้นต้องได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 ได้ให้ความหมายของงบการเงินไว้คือ...

“งบการเงิน” หมายความว่า รายงานผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของกิจการ ไม่ว่าจะรายงานโดยงบดุล งบกำไรขาดทุน งบกำไรสะสม งบกระแสเงินสด งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น งบประกอบหรือหมายเหตุประกอบงบการเงิน หรือคำอธิบายอื่นซึ่งระบุไว้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงิน

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท ก็บัญญัติให้บริษัทจำกัดต้องจัดทำบัญชีงบดุลอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกรอบปีบัญชี และต้องให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทอนุมัติ

สำหรับบริษัทมหาชนจำกัด ตามพระราชบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 กฎหมายก็กำหนดให้ต้องจัดทำบัญชี และต้องจัดทำงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกรอบปีบัญชี และต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบงบดุลและเสนอให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ 

 เมื่อพิจารณาจากคำนิยามของคำว่างบการเงิน ตามพระราชการบัญชี พ.ศ.2543 สรุปได้ว่า งบดุลที่ทั้งบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดต้องจัดทำ ก็คืองบการเงินตามความหมายของกฎหมายการบัญชี

คดีที่มีงบการเงินเป็นประเด็นเกี่ยวข้อง

งบการเงินที่แสดงว่าบริษัทได้รับชำระค่าหุ้นครบแล้ว

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2558

การที่จำเลยทั้งสองยื่นแบบนำส่งงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น อันแสดงให้ปรากฏว่าผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว อันเป็นความเท็จ ส่งผลให้เห็นในทำนองว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นนั้นครบถ้วนแล้วและสิ้นสิทธิในการเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้ค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีก 

ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 จะต้องได้รับเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนในส่วนที่ยังมิได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วน จึงเป็นการซ่อนเร้นสิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นที่ยังมิได้ชำระ เพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของตนซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน 

การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 350 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 40 (1) ด้วย

ใช้งบการเงินที่เป็นเท็จหลอกลวงให้ลงทุน เป็นความผิดฐานฉ้อโกงและกฎหมายหลักทรัพย์

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2562 กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล นำข้อมูลเท็จไปเผยแพร่ในงบการเงินประจำปี 2547 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไป

ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจนเหลือหุ้นที่ยังไม่ได้ขาย 140,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 878,169.19 บาท 

การหลอกลวงดังว่านั้น ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินลงทุนจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหาย ซึ่งเป็นประชาชนผู้ถูกหลอกลวง เป็นความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์และความผิดฐานฉ้อโกง

การจัดทำงบการเงินรวมของบริษัทแม่และบริษัทย่อยไม่มีผลเป็นการควบรวมบริษัท

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4502/2565 เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าของกิจการของบริษัทย่อยก็จะต้องแสดงผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยไว้เป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินของโจทก์

แม้จะฟังว่ามีการจัดทำงบการเงินตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่กิจการของโจทก์ บริษัท ด. และ ท.ก็ยังคงมีการดำเนินกิจการในฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันและกัน และย่อมมีการจัดทำงบการเงินของแต่ละกิจการไว้ต่างหากจากกันตามกฎหมาย 

การจัดทำงบการเงินของโจทก์ดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการแสดงฐานะของกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกันต่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น หาได้มีผลทำให้โจทก์ บริษัทย่อย ด. และ ท. ควบเข้ากันเป็นนิติบุคคลเดียวกันในทางกฎหมาย

งบการเงินไม่ใช่เอกสารที่มีข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าถูกต้อง

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5003/2565 งบการเงินซึ่งโจทก์นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในแต่ละปี ที่คู่ความแต่ละฝ่ายนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้นั้น ก็เป็นเอกสารทางบัญชีที่โจทก์จัดทำขึ้นตามที่กฎหมายกำหนด หาใช่เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น หรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น และมิใช่เอกสารเอกชนที่มีคำพิพากษาแสดงว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง 

จึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 127

งบการเงินเป็นพยานหลักฐานคดีภาษี

- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2566 เมื่อพิจารณาลักษณะการประกอบกิจการและงบการเงินของโจทก์ จะเห็นได้ว่ากิจการของโจทก์ประกอบด้วยสินทรัพย์หลายประเภท รวมถึงค่าความนิยมและสินทรัพย์อื่น การที่โจทก์ขายธุรกิจจัดจําหน่ายในราคา 82,280,000 บาท และขายกิจการนายหน้าในการจําหน่ายในราคา 114,333,525 บาทนั้น จึงเป็นราคาที่รวมมูลค่าของค่าความนิยมและสินทรัพย์อื่นอยู่ด้วย จึงไม่อาจนํามาหักได้ทั้งจำนวน

 ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษี โดยอาศัยข้อเท็จจริงจากความผิดที่ตรวจพบกรณีแจ้งเลิกกิจการ โดยใช้วิธีคํานวณราคาตลาดค่าความนิยมตามงบการเงินที่จัดทำตามกฎหมายภาษีเป็นฐานภาษีในการคํานวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หาใช่ราคาตลาดตามงบการเงินที่จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีที่โจทก์อ้าง และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้นํารายรับบางส่วนมาหักให้แล้ว จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมแก่กรณีแล้ว.