ประโยชน์ของการอ่านหนังสือกระดาษ | พสุ เดชะรินทร์

ประโยชน์ของการอ่านหนังสือกระดาษ | พสุ เดชะรินทร์

ท่านผู้อ่านจำได้ไหมว่าครั้งสุดท้ายที่อ่านหนังสือกระดาษ (Physical Book) จนจบคือเมื่อไร? ลองสังเกตดูจะพบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเมื่ออายุมากขึ้น แนวโน้มที่จะอ่านหนังสือกระดาษก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วการอ่านหนังสือกระดาษ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับผู้ใหญ่

ถึงแม้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เป็นการสำรวจการอ่านหนังสือของคนไทยในช่วงปี 2548-2561 จะชี้ให้เห็นว่าคนไทยที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป จะใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ยถึงวันละ 80 นาที ซึ่งเพิ่มกว่าในอดีต

แต่ก็พบว่ายิ่งอายุมากขึ้นเวลาที่ใช้ในการอ่านก็จะลดน้อยลง จาก 109 นาทีในกลุ่มเยาวชน เหลือมากกว่า 1 ชั่วโมงในวัยทำงาน และสุดท้ายเหลือ 47 นาทีต่อวันในกลุ่มผู้สูงอายุ

แถมตัวเลขการอ่านข้างต้นยังครอบคลุมทั้งหนังสือกระดาษ หนังสือหรือบทความออนไลน์ และสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) ต่างๆ ด้วย แต่ไม่รวมการอ่านข้อความส่วนบุคคล ดังนั้น ถ้าจะนับจริงๆ ตัวเลขการอ่านหนังสือกระดาษของคนวัยทำงานและผู้สูงวัยก็จะน้อยกว่าตัวเลขข้างต้น นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก Statista ที่ยืนยันว่าในสหรัฐ อัตราการอ่านหนังสือกระดาษก็ลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น

การที่คนจะอ่านหนังสือน้อยลงในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากมีคู่แข่งจำนวนมากที่แย่งเวลาในการหนังสือไป ในอดีตนั้นถ้าว่างก็จะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน แต่ปัจจุบันเมื่อว่างก็จะหยิบมือถือขึ้นมาแทน ยังไม่นับถึงการดูคลิป การเล่นเกม หรือชอปปิงออนไลน์ ที่เข้ามาแย่งเวลาการอ่านหนังสือไป ตัวเลขจาก Gallop พบว่าในปี 2564 คนอ่านหนังสือวันละ 12 เล่มต่อปี ลดลงจาก 15.6 เล่มในปี 2559

นอกจากนี้ แนวโน้มของสังคมในการอ่านเปลี่ยนจากอ่านหนังสือกระดาษไปสู่การอ่านผ่านทางออนไลน์ก็เพิ่มขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบการอ่านหนังสือจากกระดาษและจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

แถมการอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น 70% จะเป็นการอ่านจากสื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่การอ่านอีบุ๊ก แสดงให้เห็นว่าโดยรวมแล้วการอ่านอาจจะเพิ่มขึ้น แต่การอ่านหนังสือที่เป็นเล่มไม่ว่าจะเป็นหนังสือกระดาษหรือหนังสือออนไลน์นั้นลดลงแน่นอน

ส่วนการที่อายุมากขึ้นจะอ่านหนังสือกระดาษน้อยลงนั้นก็ไม่ได้เป็นเฉพาะในสังคมไทย แต่เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วโลก มีการสำรวจมากมายที่ออกมายืนยันว่ายิ่งอายุมากขึ้นการอ่านหนังสือกระดาษก็จะลดน้อยลง โดยที่ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยก็หันไปอ่านผ่านทางออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน

การอ่านหนังสือกระดาษที่น้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น อาจจะมาจากสายตาที่แย่ลง หรือภาระงานที่มากขึ้น ทำให้มีเวลาว่างที่น้อยลง หรือมีสื่อออนไลน์อื่นๆ ที่น่าสนใจกว่าและแย่งเวลาในการอ่านหนังสือไป ในอดีตบางคนอาจจะอ่านหนังสือก่อนนอน แต่ปัจจุบันก่อนนอนก็จะดูไลน์ เฟซบุ๊ก หรือไม่ก็ซื้อของออนไลน์แทน ทำให้หนังสือกระดาษที่วางไว้ข้างหัวเตียงกลายเป็นเสมือนเครื่องประดับไปแทน

การอ่านหนังสือนั้นมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งเป็นการฝึกสมาธิให้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานๆ ช่วยลดความเครียด ฝึกการทำความเข้าใจต่อเรื่องราวและเหตุการณ์ ฝึกเรื่องการคิดแบบ Critical Thinking ช่วยเพิ่มคำศัพท์และทักษะด้านภาษา และพัฒนาในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ

ประโยชน์ของการอ่านหนังสือกระดาษนั้นก็ชัดเจนมากในเรื่องของสุขภาพสายตา ลดอาการปวดหัว ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องการฝึกความจำ (อ่านหนังสือกระดาษแล้วจดจำได้นานกว่าการอ่านออนไลน์) การได้จับหนังสือและเปลี่ยนหน้าหนังสือส่งผลต่อการทำความเข้าใจเรื่องราวและกระบวนการคิดได้มากขึ้น 

อีกประโยชน์ของหนังสือกระดาษ คือช่วยทำให้จดจ่อกับหนังสือได้นานขึ้น เนื่องจากไม่ได้มีสัญญาณแจ้งเตือนต่างๆ เข้ามาเหมือนกับการอ่านออนไลน์ ลองสังเกตดูจะพบว่าการอ่านออนไลน์นั้นจะทำได้ไม่นาน เนื่องจากเดี๋ยวก็จะมีสัญญาณเตือนต่างๆ เข้ามารบกวนสมาธิตลอดเวลา

ประโยชน์ของการอ่านหนังสือกระดาษข้างต้นทั้งหมด ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อผู้ที่เริ่มมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องของการฝึกสมอง สมาธิ ความจำ ลดความเครียด เพิ่มความสุข ช่วยให้หลับง่าย แถมยังได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ

ดังนั้น อยากจะเชิญชวนให้หยิบหนังสือกระดาษที่หลายท่านอาจจะ “กองดอง” ไว้มาอ่าน แล้วจะพบถึงเสน่ห์และประโยชน์ของการอ่านหนังสือกระดาษอีกครั้ง.