ราชทัณฑ์ สั่ง 3 ผู้คุม 'เสี่ยแป้ง นาโหนด' ออกจากราชการ พร้อมสอบวินัยร้ายแรง

ราชทัณฑ์ สั่ง 3 ผู้คุม 'เสี่ยแป้ง นาโหนด' ออกจากราชการ พร้อมสอบวินัยร้ายแรง

"อธิบดีราชทัณฑ์" เซ็นคำสั่งให้ 3 ผู้คุม "เสี่ยแป้ง" ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมตั้งสอบวินัยร้ายแรง รวมถึงสอบถึง 2 ผู้บริหารเรือนจำ หากพบเอื้อวางแผนหลบหนี พร้อมไล่ออกจากราชการ

วันนี้ (7 พ.ย. 66) ความคืบหน้าคดี "เสี่ยงแป้ง นาโหนด" หรือ นายเชาวลิต ทองด้วง นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ แหกคุก หลบหนีการควบคุม ขณะรักษาตัวอยู่ที่ รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา และยังคงหลบหนีอยู่ โดยขณะนี้ตำรวจสามารถจับกุมกลุ่มลูกน้องคนสนิทที่ช่วยหลบหนีได้แล้ว 7 ราย 

นอกจากนี้ ยังมีการออกหมายจับ กลุ่มของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ หรือ ผู้คุม เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ที่ช่วยเหลือ 3 รายประกอบด้วย 

  • นายวรินทร ทองประจง อายุ 41 ปี 
  • นายเอกลักษณ์ ไชยกาญจน์ อายุ 35 ปี
  • นายวีระชัย หนูด้วง อายุ 42 ปี 

และเตรียมออกหมายจับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เพิ่มเติมอีกราย 

ราชทัณฑ์ สั่ง 3 ผู้คุม \'เสี่ยแป้ง นาโหนด\' ออกจากราชการ พร้อมสอบวินัยร้ายแรง

ล่าสุด นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ตำรวจ ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานจนขอศาลออกหมายจับ 3 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ควบคุมดูแล "เสี่ยแป้ง นาโหนด" แต่กลับปล่อยปละละเลย จนเป็นเหตุให้นักโทษก่อเหตุหลบหนีออกจากการควบคุมตัว 
 

กรณีดังกล่าว ตำรวจได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 157 และในส่วนของกรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็ได้ดำเนินการตรวจสอบประเด็นต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อทั้ง 3 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ถูกศาลออกหมายจับ ตนจึงได้มีคำสั่งลงนามให้ทั้ง 3 รายออกจากราชการไว้ก่อน และเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามหลักการก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงควบคู่ไปด้วย 

นายสหการณ์ กล่าวว่า การสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ก็เพื่อพิจารณาเป็นคำสั่งไล่ออกจากราชการ แต่ในส่วนของผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช (นายณรงค์ หนูคง) และผู้อำนวยการส่วนควบคุมของเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช (นายพูชนะ หิรัญรัตน์) ที่ถูกสั่งให้ไปปฏิบัติราชการ อยู่ที่กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี ก่อนหน้านี้ ก็จะถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการเช่นเดียวกัน เบื้องต้นทั้งคู่ยังไม่ได้ถูกออกหมายจับ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด จึงยังคงปฏิบัติราชการอยู่ที่กรมราชทัณฑ์ 

สำหรับการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการนั้น นายสหการณ์ ระบุว่า คณะกรรมการจะดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมให้ครบทุกประเด็น เพราะไม่ได้มองเพียงผู้คุมราชทัณฑ์แค่ 4 ราย (เวรผลัดเช้า 2 ราย เวรผลัดบ่าย 2 ราย) ที่ได้รับหน้าที่ให้ดูแลผู้ต้องขัง แต่เราจะต้องตรวจสอบให้ครอบคลุม ถึงผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องทั้งหม

แต่ ณ ตอนนี้ ตนเพิ่งได้รับรายงานการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะมีรายละเอียดเชิงลึกหลายประเด็น จึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดสอบสวน ต่อสาธารณะได้ทั้งหมด เพราะอาจเป็นการให้คุณ หรือเป็นการชี้ช่องทางต่อผู้ที่มีส่วนกระทำความผิดได้ และคณะกรรมการจะต้องรวบรวมพยานหลักฐาน อาทิ พยานวัตถุ พยานเอกสาร พยานแวดล้อม พยานบุคคล เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ในการขยายความถึงสิ่งที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถูกกล่าวหา และบางส่วนอาจจะใช้ในการมัดตัว ต่อพฤติการณ์ความผิดที่เจ้าหน้าที่อาจจะเปิดเผยไม่หมดได้

ทั้งนี้ คณะกรรมการจะไม่มีการตัดประเด็นใด ที่สังคมเคลือบแคลงใจสงสัยทิ้งไปเด็ดขาด เพราะการสอบสวนในเรื่องของความผิดวินัยร้ายแรง จะเป็นการตรวจสอบรายละเอียดเชิงลึกมากขึ้น ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รายใดที่เข้าข่ายว่า เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 7 ราย ที่ให้การช่วยเหลือผู้ต้องขัง หรือพบพยานหลักฐานว่า มีพฤติการณ์ไปติดต่อกับบางผู้ต้องหา เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการหลบหนีของผู้ต้องขัง ก็จะมีความผิดในเรื่องของวินัยร้ายแรง และนำไปสู่การไล่ออกจากราชการ 

เมื่อถามถึงกรณีที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดผู้คุมราชทัณฑ์อีก 1 ราย ซึ่งอยู่ในเวรผลัดเช้าของวันเกิดเหตุร่วมกับนายวีระชัย หนูด้วง จึงยังไม่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน นายสหการณ์ เผยว่า ในประเด็นดังกล่าว จะเป็นดุลพินิจและอำนาจการตรวจสอบ ของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครศรีธรรมราช เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องดูพฤติการณ์ และพิจารณาควบคู่ไปกับพยานหลักฐาน จึงจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาในมาตรา 157 เหมือนกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 3 รายก่อนหน้านี้

แต่ตนได้รับทราบว่า ผู้คุมผลัดเช้าทั้ง 2 ราย ก็ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้วยกัน แต่ข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณา คือ ผู้คุมราชทัณฑ์รายนี้ ไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือได้ไปกระทำสิ่งใด จนเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนเชื่อได้ว่า มีการปล่อยปละละเลยเหมือนกับเจ้าหน้าที่ 3 รายก่อนหน้าหรือไม่   

นายสหการณ์ เผยอีกว่า สำหรับผลการสอบปากคำทั้ง 3 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ของเจ้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครศรีธรรมราช จะไม่ได้มีการรายงานมายังราชทัณฑ์แต่อย่างใด เพราะว่าเป็นรายละเอียดในสำนวนคดี เว้นแต่ว่าทางคณะกรรมการ ได้มีการตรวจสอบในประเด็นใด แล้วต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม จึงจะประสานขอรายละเอียดบางส่วนไป

แต่ก็จะต้องได้รับการพิจารณาจากพนักงานสอบสวนว่า จะสามารถเปิดเผยเนื้อหารายละเอียดภายในสำนวนได้หรือไม่ และขอยืนยันว่า ราชทัณฑ์ยังคงเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด และไม่มีการให้ความช่วยเหลือต่อบุคคลในองค์กร หากผิดจริงก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะการปล่อยให้ผู้ต้องขังรายสำคัญหลบหนีไปได้เช่นนี้ ก็เป็นความผิดอันบกพร่องต่อหน้าที่แล้ว