ปภ. เตรียมพร้อมรับมือภัยช่วงฤดูหนาว ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วถึง

ปภ. เตรียมพร้อมรับมือภัยช่วงฤดูหนาว ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วถึง

ปภ. บูรณาการทุกภาคส่วน สั่งการ 50 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือภัยช่วงฤดูหนาว ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวทั่วถึง

วันนี้ (24 ต.ค. 66) กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย บูรณาการหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยในช่วงฤดูหนาว โดยสำรวจและปรับปรุงบัญชีผู้ประสบภัยหนาว กลุ่มเปราะบาง ควบคู่กับ การวางจัดสรรเครื่องกันหนาวอย่างทั่วถึง พร้อมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะวิธีดูแลสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น รวมถึงวางมาตรการเชิงรุกป้องกันภัยในช่วงฤดูหนาวอย่างเข้มข้น ทั้งอัคคีภัย ไฟป่าจากสภาพอากาศแห้ง อุบัติเหตุทางถนน ในช่วงหมอกลงจัด และการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงอากาศหนาว เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทุกมิติ

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามการคาดหมายลักษณะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 และปีนี้จะมีอากาศหนาวเย็นน้อยกว่าปีที่ผ่าน โดยในช่วงเดือนธันวาคม 2566- มกราคม 2567 จะเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด และจะสิ้นสุดฤดูหนาวช่วงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ประกอบกับในช่วงฤดูหนาวมักมีสภาพอากาศแห้งลมพัดแรง และหมอกปกคลุม จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการอุบัติภัยหลากหลายรูปแบบ ทั้งอัคคีภัย ไฟป่า หมอกควัน และอุบัติเหตุทางถนน เพื่อลดผลกระทบจากสภาพอากาศหนาวเย็นและภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการไปยัง 50 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยในช่วงฤดูหนาวและดูแลประชาชนอย่างเต็มกำลังครอบคลุมประเด็นสำคัญใน 3 ด้าน ดังนี้

  • ประเด็นที่ 1 เตรียมพร้อมรับมือภัยหนาวเชิงรุก โดยให้ติดตามการคาดหมายลักษณะอากาศเพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดอากาศหนาวหรือหนาวจัด พร้อมแจ้งเตือนและเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศหนาวในพื้นที่ รวมถึงสำรวจและปรับปรุงบัญชีผู้ประสบภัยหนาวที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุ เด็กไร้ผู้อุปการะ คนพิการทุพลภาพ สตรีมีครรภ์ และผู้มีรายได้น้อย เพื่อวางแผนแจกจ่ายเครื่องกันหนาวอย่างทั่วถึง และให้ทุกจังหวัดเตรียมข้อมูลด้านวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างทันท่วงที ตลอดจนสร้างการรับรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันภัยในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะวิธีดูแลสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น เช่น ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อคลายหนาว เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (Hypothermia) ไม่ผิงไฟในที่อับอากาศหรืออากาศไม่ถ่ายเท เพราะจะทำให้หมดสติและขาดอากาศหายใจ พร้อมประสานหน่วยงานสาธารณสุขเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมป้องกันโรคติดต่อในช่วงฤดูหนาว 
  • ประเด็นที่ 2 วางมาตรการป้องกันภัยที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ครอบคลุมทั้งการป้องกันอัคคีภัย โดยให้จังหวัดจัดเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ และรถดับเพลิงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุได้ทันที รวมถึงสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสาเฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยว อีกทั้งขอความร่วมมือกับเกษตรกรใช้วิธีไถกลบแทน การเผาตอซังข้าว วัชพืช และวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและมลพิษทางอากาศ สำหรับการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนให้ประสานหน่วยงานกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตั้งป้ายเตือนและไฟส่องสว่างบริเวณจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากทัศนวิสัยไม่ดี พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ดูแล ความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในพื้นที่
  • ประเด็นที่ 3 ได้แก่ บูรณาการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้จังหวัดแบ่งมอบพื้นที่และหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานอย่างชัดเจน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวทั่วถึงและไม่ซ้ำซ้อน อีกทั้งประสานทุกภาคส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว อาทิ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือสังคม สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศหนาว ให้ยึดการดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุจังหวัด โดยดำเนินการตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ พร้อมคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก 

“กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะได้บูรณาการทุกภาคส่วนให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวอย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ ควบคู่กับการกำหนดมาตรการเชิงรุกป้องกันภัยในช่วงฤดูหนาว เพื่อให้ผู้ประสบภัยหนาวได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และประชาชนดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย สำหรับประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ - ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784 - โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่ง ปภ. จะได้ประสานการช่วยเหลือต่อไป” อธิบดี ปภ. กล่าวเพิ่มเติม