กลิ่นจาก 'ต้นตีนเป็ด' อันตรายถึงชีวิต? กับความเชื่อผิดๆว่ามีสารไซยาไนด์

กลิ่นจาก 'ต้นตีนเป็ด' อันตรายถึงชีวิต? กับความเชื่อผิดๆว่ามีสารไซยาไนด์

พาไปทำความรู้จักกับ 'ต้นตีนเป็ด' หรือ พญาสัตบรรณ สัญญาณบ่งบอกการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว คลายข้อสงสัยความเชื่อผิดๆว่ามีสารไซยาไนด์

พาไปทำความรู้จักกับ 'ต้นตีนเป็ด' หรือ พญาสัตบรรณ กลิ่นจากต้นตีนเป็ดอันตรายถึงชีวิตจริงหรือไม่ กับความเชื่อผิดๆว่ามีสารไซยาไนด์ ซึ่งเมื่อได้กลิ่นจากต้นตีนเป็น นั่นคือสัญญาณบ่งบอกว่าฤดูหนาวกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว และมักจะสงกลิ่นแรงที่สุดในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคมของทุกปี บางคนบอกหอมมากแต่ก็มีอีกหลายคนที่ถึงขั้นเกิดอาการแพ้จากกลิ่นของดอกตีนเป็ด จนแทบจะเรียกกันขำๆว่าต้นพญาสัตบรร(ลัย)กันเลย

นอกจากนี้ เมื่อเริ่มจะเข้าสู่ฤดูหนาวแทบทุกๆปีที่ผ่านมา ก็มักจะมีเฟคนิวส์ในโลกออนไลน์และแชร์ต่อๆกันไปให้คนเข้าใจผิดอยู่เรื่อยๆ เช่น เกี่ยวกับกลิ่นจากดอกของ "ต้นตีนเป็ด" โดยอ้างว่ามีแพทย์แผนไทยคนหนึ่งที่ระบุว่า กลิ่นฉุนๆจากดอกตีนเป็ด เป็นกลิ่นของไซยาไนด์ มีผลต่อระบบหัวใจและการหมุนเวียนของเลือด หากสูบดมนานๆจะเกิดอาการเวียนหัวหน้ามืด และอาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิตจากการที่ระบบหัวใจอาจล้มเหลวได้เลยทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้มีการยืนยันต่อมาว่า "เป็นข่าวปลอม" 

ผศ.ภก.ดร.ชัยศักดิ์ จันศรีนิยม อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ เคยพูดถึงประเด็นนี้ยืนยันว่า ไม่จริง 'ต้นตีนเป็ด' หรือ พญาสัตบรรณ รวมถึงต้นลั่นทม ไม่ได้คายพิษออกมา และไม่มีไซยาไนด์อยู่ในยางของมัน ส่วนกลิ่นที่ปล่อยออกมาที่เราได้กลิ่นนั้นจะเป็นสารระเหยกลุ่มพวก esters กลุ่มของ terpenoids ซึ่งจะไม่มีไซยาไนด์ออกมาจากกลิ่นดอก 

ต้นพญาสัตบรรณ อาจจะถือว่าเป็นพืชพิษได้เนื่องจากมีสาร Cardiac glycosides อยู่ในยางขาวซึ่งมีปริมาณไม่สูงนัก คนที่กินเข้าไปก็จะมีผลต่อการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และถ้ารับไปในปริมาณสูงก็อาจจะทำให้เสียชีวิตได้ 

แต่ต้นพญาสัตบรรณ ก็ไม่ได้ขึ้นชื่อว่ามีพิษจากสาร Cardiac glycosides เนื่องจากพบปริมาณน้อย สารนี้ไม่ออกมากับกลิ่น โดยสาร Cardiac glycosides ร่างกายต้องได้รับจากการบริโภคเข้าไปในทางเดินอาหารถึงจะเกิดพิษ ซึ่งเราก็ไม่ได้บริโภคต้นตีนเป็ดอยู่แล้ว

สำหรับสารไซยาไนด์ที่พบในพืช จะพบในรูปของ Cyanogenic glycosides เช่น รากสะสมอาหารของมันสำปะหลัง หรือหน่อไม้ ซึ่งพวกนี้จะมีสาร Cyanogenic glycosides อยู่ ถ้าเราไม่เอามาปรุงให้สุกหรือไม่เอามาดอง

สาร Cyanogenic glycosides เมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำให้ได้สาร Hydrogen Cyanide เมื่อถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดจะทำให้การหายใจระดับเซลล์ล้มเหลวนั่นเอง

กลิ่นของ 'ต้นตีนเป็ด' หรือ พญาสัตบรรณ อันตรายหรือไม่

สำหรับกลิ่นของต้นพญาสัตบรรณ จะเป็นสารกลุ่มของ terpenoids และสารกลุ่ม estersเป็นสารที่อยู่ในน้ำมันระเหยที่อยู่ในกลิ่นของดอกไม้อยู่แล้ว ซึ่งในกลุ่มนั้นก็จะมีสารอยู่หลายชนิด สารอาจจะมีลักษณะฉุน

เวลาต้นพญาสัตบรรณออกดอก จะออกเยอะมาก ออกเต็มต้น ถ้าปลูกกันมากๆก็จะกลิ่นแรงมาก บางคนรู้สึกแพ้แล้วไม่มีอากาศถ่ายเทก็อาจจะรู้สึกเวียนหัวและหมดสติได้ แต่ไม่ได้มีอันตรายถึงชีวิต

ส่วนที่ต้องระวังจากต้นไม้ คือ ยางขาว ซึ่งอาจจะมีสารประเภทกรดไปสัมผัสถูกผิวหนังเข้าก็จะทำให้เกิดผื่นแพ้ ระคายเคือง เข้าตาก็เป็นอันตรายต่อตา ควรจะหลีกเลี่ยง ซึ่งไม่ใช่แค่ต้นพญาสัตบรรณ หรือลั่นทม แต่ควรระมัดระวังยางของต้นไม้ทุกชนิด

"ต้นตีนเป็ด" เป็นไม้โตเร็ว ต้นสูงใหญ่ ในหลายๆ ประเทศนิยมปลูกในเขตเมืองเพราะมันโตเร็วมาก มีงานศึกษารายงานว่า ต้นและใบสามารถลดเสียงการจราจรได้ แต่ปัญหาที่พบในหลายประเทศที่ปลูกต้นตีนเป็ดในเขตเมืองคือ กลิ่น หากลองค้นดูข่าวเก่าๆจะพบว่า ทั้งอินเดีย เวียดนาม ไต้หวันและอีกหลายๆประเทศ รวมถึงไทยเราด้วย มีข่าวปัญหาที่เกิดจากกลิ่นของต้นไม้ชนิดนี้เกือบทุกปีโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวอย่างนี้ 

ส่วนในทางวิทยาศาสตร์พบว่า ดอกจากต้นตีนเป็ดมีความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด (อย่างน้อยถึง 34 ชนิด) ซึ่งสารที่ให้กลิ่นหลักนั้นเป็นสารประกอบ linalool (37.5%) และสารอื่นๆ เช่น cis-/ trans-linalool oxides (14.7%), α-terpineol (12.3%), 2-phenylethyl acetate (6.3%) และ terpinen-4-ol (5.3%) ผสมปนเปกันเพื่อเพิ่มเอกลักษณ์กลิ่นที่ออกหวานเมื่อได้กลิ่นตอนเจือจาง แต่จะเหม็นหวานเอียนชวนปวดหัวมากหากมีปริมาณที่สูงขึ้น

มีงานวิจัยที่ค้นหาความรุนแรงของกลิ่นดอกตีนเป็ด อันเป็นสาเหตุของความปวดหัวยามที่ได้กลิ่นแบบเข้มข้น เกิดจากการที่สารในกลุ่ม linalool กระตุ้นระบบประสาทในสมองให้ทำงานหนักยิ่งขึ้น และส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหัว

และยังกระตุ้นความอยากอาเจียนของผู้ที่แพ้กลิ่นสารจำพวกนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากได้รับความเข้มข้นสูงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานๆ และอาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการน้ำตาและน้ำมูกไหลออกมาได้ด้วย อย่างไรก็ตามอาการนี้ก็ไม่ได้เป็นทุกคน บางคนก็สามารถรับกลิ่นดอกตีนเป็ดได้โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ พร้อมกับบอกว่า “หอมหวานเย็นๆ” ด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล

 

ข้อมูลประกอบจาก dnpdwr , รายการชัวร์ก่อนแชร์ช่อง MCOT