"ดอกตีนเป็ด" กลิ่นหวานเอียนของ "ฤดูหนาว" ที่หลายคนเบือนหน้าหนี

"ดอกตีนเป็ด" กลิ่นหวานเอียนของ "ฤดูหนาว" ที่หลายคนเบือนหน้าหนี

"ดอกตีนเป็ด" กลิ่นประจำช่วงต้น "ฤดูหนาว" แม้จะมีบางคนที่ชอบ แต่ส่วนใหญ่เกลียดกลิ่นหวานเอียนของดอกตีนเป็ดและทำให้ปวดหัวไมเกรนกันเลยทีเดียว

รู้หรือไม่? ฤดูหนาวมีกลิ่นและความรู้สึกเฉพาะตัว แน่นอนว่าในแต่ละที่ย่อมมีกลิ่นและความรู้สึกของฤดูหนาวที่ต่างกันไป ในยุโรปอาจจะเป็นไม้สน เตาไฟ ถ้าเป็นบ้านเรา.. ก็อาจจะเป็น “ดอกตีนเป็ด” นี่แหละ 

ต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris มีช่อดอกที่ออกเพียงปีละครั้งในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งส่งกลิ่นฟุ้งขจรขจายไปทั่วบริเวณโดยเฉพาะตอนหัวค่ำ 

สำหรับบางคนที่แพ้กลิ่น “ดอกตีนเป็ด” มักจะไม่ปลื้มดอกไม้ชนิดนี้ เพราะทำให้มีอาการปวดหัวไมเกรนได้เลยทีเดียว ด้านโลกโซเชียลมีหลายคนออกมาแสดงทัศนะกันว่า ช่วงหัวค่ำในเดือนตุลาคมไปจนถึงต้นปีใหม่ เริ่มจะมีมหันตภัยกลิ่นดอกตีนเป็ดโชยมารบกวนโสตประสาทจนแทบทนไม่ได้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็เวียนมาเป็นประจำทุกปี

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ดอกตีนเป็ดมีความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยอย่างน้อย 34 ชนิด ซึ่งสารที่ให้กลิ่นหลักนั้นเป็นสารประกอบ linalool (37.5%) และสารอื่นๆ เช่น cis-/ trans-linalool oxides (14.7%), α-terpineol (12.3%), 2-phenylethyl acetate (6.3%) และ terpinen-4-ol (5.3%) ผสมปนเปกันเพื่อเพิ่มเอกลักษณ์กลิ่นที่ออกหวานเมื่อได้กลิ่นตอนเจือจาง แต่จะเหม็นหวานเอียนชวนปวดหัวมากหากสูดกลิ่นปริมาณที่สูงขึ้น

มีงานวิจัยที่ค้นหาความรุนแรงของกลิ่นดอกตีนเป็ด อันเป็นสาเหตุของความปวดหัวยามที่ได้กลิ่นแบบเข้มข้นโดยรายงานว่า อาการปวดหัวดังกล่าวเกิดจากการที่สารในกลุ่ม linalool ไปกระตุ้นระบบประสาทในสมองให้ทำงานหนักยิ่งขึ้น และส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหัว อีกทั้งยังกระตุ้นความอยากอาเจียนของผู้ที่แพ้กลิ่นสารจำพวกนี้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีเกร็ดน่ารู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับต้นตีนเป็ดที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน เป็นต้นว่า.. 

1. ต้นตีนเป็ดมีอีกชื่อว่า “Indian Devil Tree” หรือ “ต้นไม้ปีศาจ” 

ในอินเดียมีความเชื่อว่าต้นตีนเป็ดเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณร้าย ว่ากันว่ากลิ่นที่หอมฉุนรุนแรงนั้นมีฤทธิ์สะกดให้ใครก็ตามที่เผลอไปงีบหลับอยู่ใต้ต้นไม้นี้ถึงกับสลบไป หรืออาจถึงขึ้นไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย 

2. ตำนาน “ยักษี” ที่มาพร้อมกลิ่น “ดอกตีนเป็ด”

มีตำนานพื้นบ้านเล่าถึงนางยักษ์ซึ่งมักปลอมตัวเป็นสาวงาม คอยสะกดหนุ่มๆ ที่ผ่านมาในยามวิกาลให้ไปหลับนอนด้วยแล้วจับกินเสีย เมื่อนางยักษ์ในคราบสาวงามปรากฏกายขึ้น ก็จะมีกลิ่นหอมของดอกพญาสัตบรรณนี้ขจรขจายมาตามสายลม ชวนให้เหยื่อผู้โชคร้ายเกิดอารมณ์ปั่นป่วนเคลิบเคลิ้ม เป็นที่มาที่ชาวอินเดียเรียกไม้ชนิดว่า “ต้นไม้ยักษี” อีกชื่อหนึ่งด้วย

3. ต้นตีนเป็ด คือ ต้นไม้บัณฑิต

ใช่ว่าจะมีแต่ชื่ออวมงคลไปเสียทั้งหมด เพราะบางแห่งในอินเดียก็เรียก “ต้นตีนเป็ด” ว่า “ต้นไม้บัณฑิต” เพราะมักนำเนื้อไม้ไปใช้ทำโต๊ะเก้าอี้ กระดานชนวนสำหรับอ่านเขียนหนังสือในสมัยโบราณ เห็นได้จากชื่อพฤกษศาสตร์ที่ว่า scholaris นั่นเอง

นอกจากนี้เมื่อพูดถึง “กลิ่นของฤดูหนาว” ไม่ใช่แค่กลิ่นดอกตีนเป็ดเท่านั้นที่ทุกคนนึกถึง แต่นักวิทยาศาสตร์ด้านกลิ่นกล่าวว่า กลิ่นพิเศษของฤดูหนาวส่วนหนึ่งเกิดจากอากาศเย็นๆ ที่ส่งผลกับร่างกายและการรับกลิ่นของเรา ทว่าความรู้สึกของเราที่มีต่อฤดูหนาวนั้นไม่ใช่แค่เรื่องทางกายภาพเท่านั้น แต่กลิ่นของฤดูหนาวเกี่ยวข้องกับความรู้สึกและความทรงจำ

กลิ่นของฤดูหนาวจึงไม่ใช่แค่เรื่องของโมเลกุลในอากาศ แต่คือความรู้สึกที่ล่องลอยอยู่รอบตัวเราในบรรยากาศนั้นๆ อย่างเช่น ฤดูหนาวของบางคน คือ กลิ่นของต้นคริสต์มาส เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่ากลิ่น “ดอกตีนเป็ด” เป็นหนึ่งในกลิ่นที่บันทึกความทรงจำ เพราะกลิ่นของมันสามารถทำให้นึกย้อนกลับไปถึงเรื่องราวประสบการณ์ที่เคยผ่านมาในชีวิต เหมือนกลิ่นทุเรียนหน้าทุเรียน หรือกลิ่นน้ำหอมบางกลิ่นจากความทรงจำในอดีตนั่นเอง
----------------------------------

อ้างอิง : 'ต้นตีนเป็ด' และวิทยาศาสตร์ของกลิ่น 'ฤดูหนาว'