5 มุมมอง การเป็นอยู่ของคนไทยใน 3 ภาค

5 มุมมอง การเป็นอยู่ของคนไทยใน 3 ภาค

“สวัสดีเจ้า สบายดีบ่ กินข้าวแล้วม้าย” เป็นภาษาถิ่นของภาคเหนือ อีสาน และใต้ ที่ต่างคุ้นหูผู้มาเยือน และด้วยเสน่ห์ของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติ

ทำให้หลายๆ จังหวัดของไทยกลายเป็นเป้าหมายการเดินทางเพื่อชาร์จแบตให้กับชีวิต ใช้เป็นพื้นที่ฮีลใจ สร้างสารโดพามีน (สารแห่งความสุข) ของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มาพักผ่อน และเป็นสถานที่ทำงานของกลุ่ม Digital Nomad ที่ไทยติด Top 10 อาทิ เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี (อันดับ 1) กรุงเทพฯ (อันดับที่ 2) และ จ.เชียงใหม่ (อันดับ 9) 

ด้วยเสน่ห์ของภูมิภาคไทยมีหลายมิติ บทความนี้จึงขอชวนทุกท่านส่องความเป็นอยู่ของคนใน 3 ภาคนี้ ที่มีมากถึง 43 ล้านคน หรือ 65% ของประชากรไทยทั้งหมด ว่าเป็นอย่างไร ผ่านการวิเคราะห์ความเป็นอยู่โดยใช้เครื่องชี้ด้านต่างๆ ซึ่งพบ 5 มุมมองที่สำคัญ ดังนี้

มุมมองที่ 1 คนใต้อยู่ในสิ่งแวดล้อมดีที่สุด จากที่มีฝุ่นละอองในอากาศ (PM2.5) และอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี ต่ำกว่าภาคอื่นๆ โดยพังงาและระนอง เป็น 2 จังหวัดมีทั้งค่า PM2.5 น้อยและอุณหภูมิต่ำสุดติด Top 5 ของประเทศ 

มุมมองที่ 2 คนอีสานอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยสูง จากมีจำนวนการแจ้งความคดีชีวิต ร่างกายเพศและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์น้อยสุด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากวิถีชีวิตส่วนใหญ่ทำการเกษตร (47% ของคนอีสานทำเกษตร) ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

โดย 2 จังหวัดในภาคอีสานติด Top 5 จังหวัดที่มีจำนวนคดีฯ น้อยที่สุดของประเทศ ได้แก่ สุรินทร์และบุรีรัมย์ สำหรับอีก 3 จังหวัดอยู่ในภาคเหนือ ได้แก่ น่าน พะเยา และเชียงราย 

5 มุมมอง การเป็นอยู่ของคนไทยใน 3 ภาค

มุมมองที่ 3 พัฒนาการเด็กเล็กและการเรียนรู้ของเด็กโตภาคเหนือดีที่สุด โดยเหนือและอีสานมีสัดส่วนเด็ก 0-5 ปี ที่มีพัฒนาการสมวัยสูง โดยเฉพาะ จ.นครสวรรค์และอุตรดิตถ์ในภาคเหนือ ร้อยเอ็ดและขอนแก่นในภาคอีสาน

สำหรับช่วงวัยเด็กโตดูจากคะแนน ONET ภาคเหนือมีคะแนนสูงและมีข้อสังเกตว่าคะแนน ONET ของภาคเหนือสูงแบบไม่ได้มีจังหวัดใดมีคะแนนกระโดดไปจากจังหวัดอื่น ต่างจากภาคใต้ที่ภูเก็ตมีคะแนนกระโดดมาติด Top 5 ของประเทศ เป็นรองจากนครปฐม กรุงเทพฯ นครนายก และสมุทรสาคร ภูเก็ตจึงเป็นจังหวัดที่คะแนน ONET สูงสุดใน 3 ภาค

มุมมองที่ 4 ด้านสาธารณสุขยังไม่ดีเท่าภาพรวมของประเทศ แต่จังหวัดหลักๆ ใน 3 ภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ติด Top 5 จังหวัดที่มีเตียงรองรับผู้ป่วยมากสุด รองจากกรุงเทพฯ สมุทรสาคร นครนายก

5 มุมมอง การเป็นอยู่ของคนไทยใน 3 ภาค

มุมมองที่ 5 โครงสร้างพื้นฐานยังไม่ดีเท่าภาพรวมของประเทศ โดยช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้านพักอาศัย อาคาร สะพาน ถนน ที่เพิ่มขึ้นกระจุกอยู่ที่อีสานใต้ ตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีการขยายเส้นทางหลัก

อาทิ ถนนทางหลวงหมายเลข 24 สีคิ้ว-เดชอุดม ซึ่งเป็นถนนสายหลักของอีสานใต้ และเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และสายรอง สาย 226 เช่น ช่วงในเขตโคราช ช่วงบุรีรัมย์เข้าสุรินทร์ และช่วงเข้าศรีสะเกษ และเหนือบน (เช่น เชียงใหม่ เชียงราย) ตามการขยายตัวของที่อยู่อาศัย สำหรับทางใต้มีน้อยกว่าภาคอื่นๆ 

อย่างไรก็ดี ภาคใต้มีสัดส่วนประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากกว่าทุกภาค และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ โดยภูเก็ต มีสัดส่วนฯ มากถึง 96% (อับดับ 1 ของประเทศ) เหนือและอีสานมีสัดส่วนเกือบ 80% 

ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในแต่ละภูมิภาคมีจุดเด่นแตกต่างกัน คนใต้อยู่ท่ามกลางอากาศที่ดีมาก คนอีสานอุ่นใจด้านความปลอดภัย ลูกหลานของคนในภาคเหนือ อีสาน ใต้ สามารถเรียนในจังหวัดในภูมิภาคของตัวเองได้

และที่สำคัญพื้นที่ส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ดังนั้น คงไม่แปลกใจว่าทำไมแรงงานที่กลับบ้านในช่วงโควิดจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะใช้ชีวิตทำงานที่บ้านเกิด ไม่กลับไปทำงานที่ในเมืองดังเช่นเคย

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ ธปท.

ที่มา : Dynamic World ของ Google ร่วมกับ World Resources Institute และฐานข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คำนวณโดยทีมงานศึกษา

5 มุมมอง การเป็นอยู่ของคนไทยใน 3 ภาค   5 มุมมอง การเป็นอยู่ของคนไทยใน 3 ภาค

คอลัมน์: ทัศนะ แจงสี่เบี้ย 
ดวงทิพย์ ศิริกาญจนารักษ์
ปริญดา สุลีสถิร
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)