เตือนปชช. เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ 8-15 ต.ค.นี้

เตือนปชช. เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ 8-15 ต.ค.นี้

รัฐบาลเตือนประชาชนเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ และขอให้ติดตามการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ช่วง 8-15 ตุลาคม นี้

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2566 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนประชาชนเฝ้าระวัง น้ำล้นตลิ่ง บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ และขอให้ติดตามการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ จากส่วนราชการอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมขนของขึ้นสู่บริเวณที่สูงหรืออพยพทันที หากได้รับการแจ้งเตือน  เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

นายคารม กล่าวว่า จากรายงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมทั้งประเทศไทย ทำให้มีปริมาณน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ในช่วงวันที่ 8 – 11 ตุลาคม 2566 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ ทั้งนี้ สทนช. ได้วิเคราะห์คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ โดยมี พื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 9 – 15 ตุลาคม 2566 ดังนี้

1. เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม ได้แก่

ภาคเหนือ

  • จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอฝาง อมก๋อย และจอมทอง)
  • จังหวัดกำแพงเพชร (อำเภอคลองลาน คลองขลุง และปางศิลาทอง)
  • จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอตรอน)
  • จังหวัดตาก (อำเภออุ้มผาง แม่สอด แม่ระมาด พบพระ วังเจ้า และบ้านตาก)
  • จังหวัดพะเยา (อำเภอเมืองพะเยา)
  • จังหวัดแพร่ (อำเภอวังชิ้น)
  • จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย)
  • จังหวัดนครสวรรค์ (อำเภอแม่วงก์)
  • จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่ และลานสัก)
  • จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ หนองไผ่ และน้ำหนาว)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • จังหวัดขอนแก่น (อำเภอโคกโพธิ์ไชย และโนนศิลา)
  • จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอเมืองนครราชสีมา โนนไทย โนนสูง เฉลิมพระเกียรติ จักราช พิมาย ลำทะเมนชัย ชุมพวง และเมืองยาง)
  • จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอเมืองชัยภูมิ คอนสาร และเกษตรสมบูรณ์)
  • จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอคำชะอี และเมืองมุกดาหาร)
  • จังหวัดอุดรธานี (อำเภอเมืองอุดรธานี)
  • จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี และวารินชำราบ)

ภาคกลาง

  • จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ และศรีสวัสดิ์)
  • จังหวัดชัยนาท (อำเภอเมืองชัยนาท เนินขาม และหันคา)
  • จังหวัดสุพรรณบุรี (อำเภอเดิมบางนางบวช หนองหญ้าไซ สามชุก และดอนเจดีย์)

ภาคตะวันออก

  • จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอเมืองปราจีนบุรี ประจันตคาม ศรีมหาโพธิ นาดีและกบินทร์บุรี)
  • จังหวัดสระแก้ว (อำเภอเมืองสระแก้ว)
  • จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี แก่งหางแมว ขลุง มะขาม และท่าใหม่)
  • จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด บ่อไร่ เขาสมิง และแหลมงอบ)
  • จังหวัดระยอง (อำเภอปลวกแดง)

ภาคใต้

  • จังหวัดนราธิวาส (อำเภอสุไหงปาดี และสุคิริน)
  • จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี)
  • จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์)

 

2. เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ดังนี้

แม่น้ำมูล ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ การบริหารจัดการในพื้นที่ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ได้บริหารจัดการโดยคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการประชุมบูรณาการข้อมูล เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งให้ได้มากที่สุด และการระบายน้ำให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด

แม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยาต้องเพิ่มการระบายน้ำในอัตรามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ วัดไชโย คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง อำเภอพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี และอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.20 – 0.80 เมตร

ทั้งนี้ การบริหารจัดการในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้บริหารจัดการโดยคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ซึ่งมีการประชุมบูรณาการข้อมูลเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งให้ได้มากที่สุด และการระบายน้ำให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด

แม่น้ำท่าจีน ได้แก่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี และสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอบางเลน และนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

แม่น้ำปราจีนบุรี ได้แก่ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

"จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดยโสธร ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกส่วนราชการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำอย่างเต็มที่ ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในส่วนของน้ำท่วม และการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร นายกรัฐมนตรีย้ำ รัฐบาลจะไม่ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซากไปเรื่อยๆ ทุกหน่วยงานจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด ทำให้ไม่เกิดน้ำท่วม หรือเกิดให้น้อยที่สุด" นายคารม กล่าว