ด.ช. 14 กราดยิงพารากอน ถูกส่งตัวรักษาสถาบันกัลยาณ์ รมว.ยธ.แจงเยียวยาเหยื่อ

ด.ช. 14 กราดยิงพารากอน ถูกส่งตัวรักษาสถาบันกัลยาณ์ รมว.ยธ.แจงเยียวยาเหยื่อ

รมว.ยุติธรรม เผย ด.ช. 14 กราดยิงพารากอน ถูกส่งตัวไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ฯ หลังแพทย์ประเมินเบื้องต้นเข้าข่ายมีอาการทางจิต พร้อมแจงการช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิต

วันที่ 6 ตุลาคม 2566 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยุติธรรม) กล่าวถึงความคืบหน้าการรับตัว ด.ช.วัย 14 ปี ผู้ก่อเหตุ กราดยิง ภายในห้างสยามพารากอน ซึ่งขณะนี้อยู่ในความควบคุมดูแลของกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน 

 

 

โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สถานพินิจฯได้มีกระบวนการรับตัว ด.ช.วัย 14 ปี มีแพทย์ที่ตรวจและประเมินสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็ก ซึ่งด.ช.ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างนี้จึงคงยังอยู่ในการดูแลของสถานพินิจฯ และตนเพิ่งได้รับแจ้งว่าเมื่อมีการตรวจประเมินสุขภาพจิตของด.ช. ทางทีมจิตแพทย์ที่ตรวจสอบเบื้องต้นมีความเห็นว่า เห็นควรส่งตัวด.ช.ไปรับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนว่าด.ช.มีอาการทางจิตอย่างไร เป็นเพียงสรุปรายงานที่ได้รับทราบเท่านั้น 

 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า แม้ว่า ด.ช.วัย 14 ปี จะถูกส่งตัวไปรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ฯ แต่ในทางกฎหมายไม่สามารถเปิดเผยเรื่องอาการสุขภาพของเด็กได้ ขอให้เป็นไปตามความเห็นของแพทย์ อีกทั้งทางกรมพินิจฯก็ได้มีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่สำหรับเข้าร่วมดูแลเด็ก ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย นอกจากนี้ตนไม่ได้เน้นย้ำกำชับในเรื่องใดเป็นพิเศษแก่กรมพินิจฯ เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนการดำเนินการและรายงานให้ตนรับทราบต่อเนื่อง อีกทั้งเรื่องสำคัญอีกประการคือการที่เจ้าหน้าที่ของกรมพินิจฯจะต้องลงพื้นที่สืบเสาะสืบสวนค้นหาสาเหตุที่ทำให้ด.ช.ก่อเหตุดังกล่าว เพื่อที่เราจะได้ร่วมกันออกแบบกลไกป้องกันไม่ให้มีเด็กหรือเยาวชนก่อเหตุในลักษณะนี้ซ้ำขึ้นอีก 

 

 

'หาก ด.ช.เข้ารับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางเสร็จสิ้นกระบวนการเป็นที่เรียบร้อย และเมื่อถึงวันนั้นแพทย์พิจารณาส่งกลับมายังสถานพินิจฯ ทางกรมพินิจฯก็จะมีโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูเพื่อพัฒนาพฤตินิสัย ซึ่งจะเป็นในส่วนที่เด็กๆ ภายในการดูแลของสถานพินิจฯทุกคนจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมการศึกษา การพัฒนาวิชาชีพต่างๆ' 

 

พ.ต.อ.ทวี ยังได้กล่าวถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุ 'กราดยิงพารากอน' ว่า ทางกระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะมีการจ่ายเงินชดเชยเยียวยา ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ในกรณีของผู้เสียหายที่เสียชีวิต มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาตามกฎหมายสูงสุดรายละ 200,000 บาท 

 

ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บก็มีสิทธิได้รับการเยียวยาเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ในส่วนของผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นชาวต่างชาติก็จะได้รับค่าชดเชยผู้เสียชีวิตจากกระทรวงยุติธรรมเช่นเดียวกัน และทั้งสองส่วนจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ว่าจะมีการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาอย่างไรบ้าง แต่ยืนยันว่าเรามีการชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายและผู้เสียชีวิตอย่างแน่นอน