“MOU” ที่ไม่ควรถูกฉีก | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

“MOU” ที่ไม่ควรถูกฉีก | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

MOU คือ “บันทึกความเข้าใจ” หรือ “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ” กันระหว่าง 2 องค์กรหรือหน่วยงานขึ้นไป ที่จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการขับเคลื่อน หรือผลักดันเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างและร่วมประสบความสำเร็จไปด้วยกัน

MOU (เอ็ม-โอ-ยู) หรือ Memorandum Of Understanding  ไม่ได้เป็นสัญญาผูกมัด และไม่มีผลทางกฎหมาย หากแต่จะนำมาใช้ประกอบการอ้างอิงการดำเนินงานในแต่ละส่วนตามที่ตกลงกันไว้

สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งมาตรา 29(8) กำหนดให้สำนักงาน กขค. ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมดำเนินการในการเจรจา ทำความตกลงร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงาน

และมาตรา 29(9) กำหนดให้สำนักงาน กขค. ต้องจัดให้มีหรือให้ความร่วมมือกับองค์กรอื่น ในการศึกษาอบรมและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า ในขณะที่มาตรา 29(10) ระบุว่า สำนักงาน กขค. จะต้องประสานงานและให้ความร่วมมือกับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้

ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม สำนักงาน กขค.จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า โดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน กขค. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อต้องการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการผลักดันการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าในด้านต่าง ๆ ได้แก่

1) ด้านวิชาการและการประชาสัมพันธ์กับสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม

2) ด้านการกำกับดูแลการแข่งขันในธุรกิจเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมถึงกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)

3) ด้านการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)  

4) ด้านการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมกับศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

5) ด้านการแข่งขันทางการค้ากับสถาบันการศึกษา 13 สถาบัน ทั้งสถาบันการศึกษาที่เป็นของรัฐ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ฯลฯ และสถาบันการศึกษาที่เป็นของเอกชน เช่นมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงาน กขค. ได้จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SMEs ทั้งในส่วนภาครัฐและภาคเอกชนอีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือและองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการพัฒนานโยบายการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรมต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ในการเผยแพร่ข้อมูล องค์ความรู้

รวมไปถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรี และเป็นธรรมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) แลกเปลี่ยนข้อมูลของ SMEs เพื่อประโยชน์ในการจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรมของ SMEs รวมทั้งประสานการดำเนินงานการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าของ SMEs ในทุกมิติ

นอกจากนี้ ยังใช้ประโยชน์จากความร่วมมือนี้ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ SMEs เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน ป้องกันการผูกขาด เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า

โดยผู้ประกอบธุรกิจอยู่ภายใต้กฎกติกาของการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและพัฒนาสู่มาตรฐานสากลยิ่งขึ้นต่อไป

การสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เกี่ยวกับการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า จะทำให้การกำหนดนโยบายต่าง ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องมีความถูกต้อง และชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากเกิดจากความเห็นพ้องต้องกันของผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ทั้งยังทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า การดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ประโยชน์ของการมีส่วนร่วม จะส่งผลให้เกิดการพัฒนากระบวนการ
การมีส่วนร่วม
ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้การพัฒนางานด้านการแข่งขันทางการค้าก้าวไปสู่จุดมุ่งหมาย
ที่วางไว้ได้มากที่สุด

เพราะการดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องร่วมกัน และจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่าง ๆ ภายใต้วัตถุประสงค์ของ MOU ฉบับนั้น ๆ