ร่าง พรบ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนสู่ ผู้ต้องคดี

ร่าง พรบ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนสู่ ผู้ต้องคดี

อาชญากร เป็นบุคคลที่สังคมต่างไม่ปรารถนาจะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ไม่ว่าทางหนึ่งทางใด หาใช่เพียงแต่การทำธุรกรรม หรือกิจกรรมระหว่างกัน แต่ยังขยายปริมณฑลทางทัศนคติไปถึงความรู้สึก

การยอมรับ ที่สังคมจะมีต่อบุคคลดังกล่าวในบริบทของ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ด้วยเช่นกัน ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การถูกตีตราว่าเป็นอาชญากรนั้นมีวันหมดอายุหรือไม่?

หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ทาง “อาชญาวิทยา และทัณฑวิทยา” พบว่าวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งของการสร้างความสงบสุขให้กับสังคมในยุคโบราณนั้น ส่วนหนึ่งคือการแยกอาชญากรออกจากสถาบันทางสังคม เพื่อสร้างสังคมที่เพียบพร้อมด้วยคนดี

และในทางกลับกันก็เป็นการกดดันเชิงพฤติกรรมร่วม เพื่อสร้างสังคมที่ไม่มีใครกล้ากระทำความผิด

ในประเทศไทยเห็นได้จากบันทึกการลงโทษในสมัยอยุธยา ว่าด้วยการ “สักหน้าหรือสักตัว แบะหน้าผากหรือแก้ม” เพื่อประจานผู้เป็นอาชญากรให้เกิดความอับอายไม่กล้ากระทำความผิดซ้ำ และไม่ให้มีใครเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

ทางฝั่งยุโรป “การทำให้อับอาย” ด้วยการ “ตีตราและขับไล่” เป็นหนึ่งในวิธีที่ถูกใช้เพื่อควบคุมความประพฤติของคนในสังคมเช่นกัน ผ่านการกระทำให้ปรากฏร่องรอยถาวรบนอวัยวะที่มองเห็นได้ชัด อันเป็นการขับไล่ทางอ้อมให้บุคคลผู้นั้นไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อีกต่อไป

ร่าง พรบ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนสู่ ผู้ต้องคดี

มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าในประเทศอังกฤษใช้วิธีการนี้จนถึงต้นศตวรรษที่ 19 คำถามที่ตามมาหลังจากสังคมพัฒนาไปสู่ “ยุคเรืองปัญญา” (ปลายศตวรรษที่ 18) คือ

อาชญากรเหล่านี้สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมกลับตัวเป็นคนดีคืนสู่สังคมได้หรือไม่? “หากได้” การตีตราเพื่อขับไล่ยังคงเป็นทางออกของการลดอาชญากรรมอยู่จริงใช่หรือไม่?

ณ ปัจจุบันประเทศทางทวีปยุโรป พัฒนาระบบเรือนจำและการลงทัณฑ์ไปเป็นการพยายามฟื้นฟู “rehabilitate” เพื่อพาคนกลับคืนสู่สังคม ไม่ใช่การลงโทษเพื่อตัดขาดผู้กระทำผิดออกจากสังคมอีกต่อไป

หลังแนวคิดของ “เซซาร์ ลอมโบรโซ” นักอาชญาวิทยาที่นำหลักพฤติกรรมทางการแพทย์ มาสรุปเป็นแนวคิดต้นกำเนิดทางการลงโทษสมัยใหม่ที่ว่า “อาชญากรรมเป็นลักษณะเฉพาะของธรรมชาติมนุษย์”

ดังนั้น “อาชญากรย่อมมีหลายประเภทแตกต่างกัน การลงโทษอาชญากรแต่ละประเภทจึงไม่ควรใช้วิธีเดียวกัน แม้จะเป็นการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน แต่ควรกำหนดโทษให้เหมาะสมกับผู้กระทำความผิด”

เมื่อประกอบกับแนวคิดทางสิทธิมนุษยชนในปลายศตวรรษที่ 19 ผ่านหลักประกันความเสมอภาคเท่าเทียมในระดับสากลของ ส่งผลชัดเจนว่า “การตีตราและขับไล่” เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในหลากหลายมิติ ดังนี้

ร่าง พรบ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนสู่ ผู้ต้องคดี

1. ผลกระทบต่อตัวผู้กระทำความผิด : เสียความภาคภูมิในความเป็นมนุษย์ที่จะได้รับการยอมรับกลับคืนเข้าสู่สังคมโดยปราศจากการถูกเลือกปฏิบัติผ่านการได้อาชีพ เสียสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย นำไปสู่วัฏจักรของการกระทำความผิดซ้ำ

2. ผลกระทบต่อส่วนรวม : การที่บุคคลในครอบครัวมีประวัติอาชญากรติดตัว คนในสังคมจะพากันรังเกียจไปถึงครอบครัวผ่านความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ เกรงว่าบุคคลในครอบครัวหรือตระกูลนั้นจะมีแนวโน้มสูงในการกระทำความผิด ส่งผลกระทบต่อการเข้าสังคมของคนในครอบครัวไปโดยปริยาย

มากไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ ที่ไม่สามารถนำเอาวิชาความรู้ที่ติดตัวผู้เคยเป็นอาชญากรมาสร้างแรงงานเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นและยาว จึงถือกำเนิดการบังคับใช้ “กฎหมายล้างมลทิน” ขึ้น

ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกฎหมายของประเทศอังกฤษเป็นกรณีศึกษา เพื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

ในประเทศอังกฤษ การล้างมลทินเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะล้างมลทินให้แก่ผู้กระทำผิดที่พ้นโทษด้วยการตรากฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการล้างมลทิน อันเรียกว่า “พระราชบัญญัติล้างมลทิน ปี 1974” (Rehabilitation of offenders Act 1974)

โดยได้บัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมถึงผลที่ผู้กระทำผิดจะได้รับจากการล้างมลทินไว้ ผ่านการจำแนกผูก้ระทำผิดที่พ้นโทษแล้วให้ได้รับการล้างมลทินโดยอัติโนมัติทันทีที่ผู้กระทำผิดมีหลักเกณ์และเงื่อนไขครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด

ร่าง พรบ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนสู่ ผู้ต้องคดี

ทั้งนี้ จำแนกตามความแตกต่างของตัวผู้กระทำความผิดไว้ด้วยกัน 5 ประเภท ดังนี้ 1. กรณีผู้กระทำความผิดอายุต่ำกว่า 18 ปี

2. กรณีผู้กระทำผิดเป็นเยาวชน ฃ3. กรณีผู้กระทำผิดที่ได้รับการปล่อยตัวภายหลังจากได้รับโทษตามคำพิพากษา จนครบถ้วน

4. กรณีผู้กระทำผิดเป็นเด็กซึ่งได้รับการปล่อยตัว ตาม พ.ร.บ.แรงงานเด็กของสกอตแลนด์ ปี 1968 กล่าวคือ หลักการของกฎหมายดังกล่าวจะพิจารณาจากสถานะ และความรุนแรงของการกระทำความผิดตามประเภทเป็นรายบุคคล

ตัวอย่างเช่น เยาวชนจะได้รับการล้างมลทินตามเงื่อนไขที่เร็วกว่าเกณฑ์ของผู้ใหญ่ครึ่งหนึ่ง หรือหากเป็นความผิดเล็กน้อยตามกฎหมายแรงงาน ก็ให้ล้างมลทินหลังจากหกเดือนหลังรับโทษครบถ้วน

เช่นนี้ จึงถือเป็นหลักการทางทัณฑวิทยาทที่มุ่งคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในการให้ความเท่าเทียมแก่การเริ่มต้นชีวิตหลังกระทำความผิด และลดภาวะการถูกขับออกจากสังคมอันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งวัฏจักรการกระทำความผิดซ้ำไปในคราวเดียวกัน

ในประเทศไทย เมื่อศึกษาย้อนไปพบว่ามีการตรา พ.ร.บ. ลบล้างมลทิน ให้แก่ผู้ต้องคำพิพากษามากถึง 8 ฉบับ จนถึง ณ ปัจจุบัน แต่ทุกฉบับนั้นไม่ได้มีลักษณะเป็นการล้างมลทินเป็นการทั่วไป เป็นแต่เพียงการทำเฉพาะกาลเนื่องในวโรกาสต่าง ๆ และบังคับเป็นผลกับคนแค่บางกลุ่มเท่านั้น

มีลักษณะเป็น “กฎหมายนิรโทษกรรม” ไม่ต้องตามวัตถุประสงค์ของการ “ล้างมลทิน” อันต้องบังคับใช้ทั่วกันโดยเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่แจ้งชัด

ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชมีพระชนมายุ 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ทั้งในทางระเบียบปฏิบัติปรากฏว่าข้อมูลทะเบียนอาชญากรรมของไทยนั้น ดำเนินการดูแลภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่มีระเบียบที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการลบข้อมูลผู้พ้นโทษได้ มากไปกว่านั้นก็เป็นการเกินกำลังของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลด้วยในทางกลับกัน ส่งผลให้มีผู้พ้นผิดและพ้นโทษจำนวนมากที่ไม่อาจคืนความเท่าเทียมของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในฐานะประชาชนคนไทยได้

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภายใต้ “พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ” ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน จะเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ “ร่าง พ.ร.บ.ทะเบียนประวัติอาชญากรรม” มีขึ้นในสังคมไทยโดยเร็ววัน เพื่อยืนยันว่าสังคมแห่งนี้ไม่ได้ด้อยค่าความเป็นมนุษย์ของใครเพียงแค่อยากสร้างสังคมในอุดมคติ (แบบเพ้อฝัน) ที่มีเพียงคนดีอาศัยอยู่เท่านั้น.