กรส. เชิญ 'พี่กบ-ผู้บริหาร' แจงข้อมูล 21 ส.ค.นี้ ปมลูกจ้างขอลางานไม่ให้ลา

กรส. เชิญ 'พี่กบ-ผู้บริหาร' แจงข้อมูล 21 ส.ค.นี้ ปมลูกจ้างขอลางานไม่ให้ลา

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ออกหนังสือเชิญ “พี่กบ-ผู้บริหาร” แจงข้อมูล 21 ส.ค.นี้ ปมลูกจ้างสาวขอลางานไปดูอาการแม่ป่วยหนัก ก่อนสิ้นใจ แต่หัวหน้าไม่ให้ลา ซ้ำโดนไล่ให้ลาออกย้ำให้ความยุติธรรมทั้ง 2 ฝ่าย แนะบริษัทควรรีบชี้แจง

วันนี้ (17 ส.ค. 66) น.ส.กาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึง กรณีสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข่าว ลูกจ้างสาว รายหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊ก โดยนำภาพแชทคุยกับหัวหน้าที่ทำงาน กรณีขอ "ลางาน" เนื่องจากแม่ป่วยหนักและใกล้จะเสียชีวิต แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลางาน ว่า ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปที่สถานที่ที่เกิดเหตุแล้ว แต่ไม่มีใครให้ข้อมูลในรายละเอียดได้ เนื่องจากทางบริษัทแจ้งว่าผู้บริหารได้เดินทางไปร่วมงานศพของแม่ลูกจ้างอยู่ รวมทั้งไม่ได้พบหัวหน้างานที่ไล่ให้ลูกจ้างมาเขียนใบลาออกด้วย

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้ข้อมูลแค่ว่าลูกจ้างยังใช้สิทธิลา และไม่มีการเลิกจ้าง ซึ่งเป็นคนที่อยู่ตอบคำถามแทน ไม่ใช่หัวหน้างานในแชทไลน์ หรือผู้บริหาร ดังนั้นจึงยังยืนยันไม่ได้ และพนักงานคนดังกล่าวก็คงยังมาเขียนใบลาออกไม่ได้เพราะติดงานศพอยู่ ดังนั้นกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงมีการออกหนังสือเชิญพบ ซึ่งในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ ก็จะได้ทราบรายละเอียดข้อมูลเบื้องต้น รวมทั้งจะส่งทีมลงไปพูดคุยกับน้องพนักงานด้วย แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ข้อมูลหรือไม่ ซึ่งเราต้องเข้าใจความพร้อมของเขาด้วยเพราะเพิ่งสูญเสียแม่ ทั้งนี้เราจะพยายามดำเนินการให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงมากที่สุด เพื่อดำเนินการตามกฎหมายหากเขาปฏิบัติไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามโดยหลักแล้ว เมื่อมีข่าวขนาดนี้ทางบริษัทอาจจะต้องแถลงข่าวชี้แจง

กรส. เชิญ \'พี่กบ-ผู้บริหาร\' แจงข้อมูล 21 ส.ค.นี้ ปมลูกจ้างขอลางานไม่ให้ลา
 

น.ส.กาญจนา บอกอีกว่า ยังไม่รู้ว่าคนในปรากฎในแชทไลน์คือผู้มีอำนาจที่จะสั่งให้พนักงานมาเขียนใบลาออกหรือไม่ เพราะสิทธิที่จะเขียนใบลาออกเป็นสิทธิของลูกจ้าง เขาจะไม่เขียนก็ได้ แล้วถ้าจะมาบังคับทั้งที่เขาไม่ได้กระทำความผิด ก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องสอบให้ได้ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องอำนวยความยุติธรรมให้กับทั้ง 2 ฝ่าย

อย่างไรก็ตามถ้าลูกจ้างไม่เขียนใบลาออก ยังไปทำงานอยู่ เขาก็มีสิทธิมายื่นคำร้องว่าถูกบีบบังคับให้ลาออกได้ ทั้งนี้หากลูกจ้างไม่กล้ายื่นคำร้อง ก็สามารถยื่นแบบไม่ปรากฎชื่อได้ หรือร้องผ่านสื่อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายได้

เมื่อถามว่าหัวหน้างานสามารถพูดอย่างนี้พูดได้หรือไม่ น.ส.กาญจนา บอกว่า จริงๆ ตามหลักต้องถามว่าหัวหน้าคนนี้มีอำนาจที่จะพูดหรือไม่ เขาเป็นตัวแทนนายจ้างที่แท้จริงไหม ซึ่งดูจากแชทไลน์จะเห็นคำตอบเมื่อหัวหน้าถามว่าจะลาออกไหม ลูกจ้างไม่ได้ตอบ แต่เมื่อมีการบอกอีกว่าให้ไปเขียนใบลาออก ลูกจ้างถึงตอบกลับว่าได้ค่ะ ซึ่งก็แสดงว่าเจตนารมณ์ตั้งแต่แรกเขาไม่ได้สื่อว่าเขาอยากจะลาออก เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องดูว่าเขามีอำนาจจริงหรือเปล่า จะมาบีบบังคับทั้งทั้งเขาไม่ได้กระทำความผิดไม่ได้ เพราะไม่ใช่การลาที่จะทำให้เกิดผลกระทบ ตรงนี้สามารถดำเนินการตามหลักการทางกฎหมายได้อยู่แล้ว

ต้องดูว่าการลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นบางอย่างนั้น คนที่เป็นฝ่ายบุคคล หัวหน้างาน และบริษัท ควรต้องรู้และต้องคำนึงถึงใจเขาใจเรา และต้องมีการพูดคุยสร้างแรงงานสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในสถานประกอบการ

เมื่อถามว่า เรื่องนี้มีใครควรจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ น.ส.กาญจนา กล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินการกระทรวงแรงงานมีกระบวนการีท่สามารถดำเนินการได้ แต่สุดท้ายคนที่จะสูญเสียและเป็นจำเลยในส่วนนี้คือบริษัท ที่ควรออกมาดำเนินการ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีการกำชับผู้จัดการหรือหัวหน้างานว่าการกระทำแบบนี้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของบริษัท สุดท้ายก็กระทบภาพลักษณ์บริษัทในอนาคต ดังนั้นก็ต้องระวังในการดำเนินการเหล่านี้