ภัย! แฉวิธี แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกนักเรียนนักศึกษา ถ่ายคลิปหลุดเรียกค่าไถ่

ภัย! แฉวิธี แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกนักเรียนนักศึกษา ถ่ายคลิปหลุดเรียกค่าไถ่

เตือนภัยรูปแบบใหม่! แฉกลวิธี แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกนักเรียนนักศึกษา ถ่ายคลิปหลุด แล้วเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่ของเหยื่อ

ตำรวจตั้งโต๊ะแถลง เตือนภัยรูปแบบใหม่ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกนักเรียนนักศึกษา อ้างคดีเกี่ยวข้องยาเสพติด ให้โอนเงิน แต่ถ้าเหยื่อไม่ยอม จะหลอกให้เหยื่อย้ายที่พัก ปิดช่องทางสื่อสาร ถ่ายคลิปหลุดก่อนให้เปิดซิมโทรศัพท์ใหม่ และหลอกให้ใช้เชือกมัดมือเท้า เทปกาวพันปาก ก่อนส่งไปเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่

วันนี้ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรทางเทคโนโลยี พร้อมด้วย ผศ.ดร.ศุภกร ปุญญฤทธิ์ ช่วยราชการสำนักงาน รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรทางเทคโนโลยี ร่วมกันแถลงเตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้นักเรียนนักศึกษา ถ่ายคลิปตัวเองเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่

พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 มีคดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) จำนวนกว่า 20,000 เคส ข่มขู่ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 2,000 กว่าเคส ซึ่งเดิมเป็นการโทรศัพท์หลอกบุคคลทั่วไปให้โอนเงิน แต่ช่วงนี้มีเคสที่น่าสนใจ จำนวน 4 เคส ซึ่งทั้ง 4 เคส 

รูปแบบการกระทำผิดในลักษณะเดียวกัน 5 ขั้นตอน 

1. คนร้ายใช้วิธีการโทรศัพท์หาพ่อแม่ ก่อนส่งรูปบุตรหลานที่ถูกควบคุมตัวไว้มาให้ โดยที่พ่อแม่ไม่สามารถติดต่อบุตรหลานได้ จำต้องโอนเงินให้ไป

2. หลังจากโอนเงินแล้ว บุตรหลานก็สามารถติดต่อกลับมาได้ เบื้องต้นพ่อแม่คาดว่าเป็นเรื่องการเรียกค่าไถ่ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนลึกๆ พบว่าเป็นคดีที่บุตรหลาน ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาข่มขู่ ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด และบังคับให้ถ่ายคลิป หรือภาพถ่าย ส่งให้กลุ่มคนร้าย นำไปเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่อีกครั้ง โดยให้โอนเงินผ่านบัญชีบุตรหลานตนเอง หรือเข้าบัญชีม้า แล้วหลบหนีไป

3. แผนประทุษกรรมคดีนี้ กลุ่มคนร้ายได้ใช้วิธีการโทรศัพท์ผ่านระบบ Voip (Voice Over Internet Protocol) หรือระบบ Internet โทรเข้าโทรศัพท์มือถือ หรือโทรศัพท์พื้นฐานของเหยื่อ สุ่มเลือกกลุ่มนักศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนดี โดยคนร้ายอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ข่มขู่ทำให้เหยื่อตกใจกลัว ว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือมีหมายจับต่าง ๆ และมีความผิดมูลฐานฟอกเงิน

4. ทำทีอ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้ และเสนอให้ความช่วยเหลือ โดยให้เหยื่อโอนเงินมายังบัญชีธนาคาร(บัญชีม้า) ที่กลุ่มคนร้ายได้จัดเตรียมไว้ และหลอกลวงเงินของผู้เสียหายไป หากนักศึกษา หรือเหยื่อไม่มีเงิน กลุ่มคนร้ายก็แนะนำให้เหยื่อ ย้ายหรือเปลี่ยนที่พัก และหลอกเหยื่อว่ามี ตำรวจนอกเครื่องแบบสะกดรอยเฝ้าดูอยู่ห้ามออกไปจากห้องเช่าที่พักใหม่

5 หลอกให้เหยื่อ ลบแอปพลิเคชันที่เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารออกจากเครื่อง เพื่อไม่ให้เหยื่อติดต่อกับคนอื่น ก่อนหลอกให้เหยื่อปิดมือถือเบอร์เดิม เพื่อไม่ให้พ่อแม่ติดต่อได้ และหลอกให้เปิดเบอร์ใหม่ใช้ในการติดต่อกับคนร้าย รวมถึงให้สแกน QR Code เพื่อใช้และควบคุม Line เหยื่อ ผ่าน Pc-iPad ตลอดเวลา ก่อนคนร้ายจะสั่งให้เหยื่อใช้ผ้าเทป และเชือกมัดมือมัดเท้าตัวเอง และถ่ายคลิปวีดิโอ โดยใช้เครื่องของเหยื่อเก็บเอาไว้ เพื่อสร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัว ก่อนส่งคลิปดังกล่าวให้คนร้าย จากนั้นคนร้ายจะส่งคลิปไปยังพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อเรียกค่าไถ่ 

การโอนเงินมีอยู่ 2 รูปแบบ 

1.พ่อแม่โอนเงินไปให้เหยื่อแล้วเหยื่อโอนเงินต่อไปให้คนร้าย 
2. พ่อแม่โอนเงินให้คนร้าย

ด้าน ผศ.ดร.ศุภกร กล่าวว่า รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ทราบว่ามีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้นักศึกษาจับตัวเองเรียกค่าไถ่จากผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองโอนเงินให้คนร้าย จึงมีความห่วงใยนักศึกษา และพ่อแม่ผู้ปกครอง ได้มอบหมายให้ตนมาร่วมแถลงข่าวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องแผนประทุษกรรมของคนร้าย ไม่ว่าจะเป็นวิธีกลโกง จุดสังเกต และวิธีป้องกัน เพื่อจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งเตือนนักศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบนี้ และไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว

ภัย! แฉวิธี แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกนักเรียนนักศึกษา ถ่ายคลิปหลุดเรียกค่าไถ่

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง ที่อาจตกเป็นเหยื่อกลโกงของแก็งคอลเซ็นเตอร์ในรูปแบบนี้ ได้รู้เท่าทันรูปแบบกลโกงของคนร้ายที่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ 

สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์

- www.เตือนภัยออนไลน์.com คลิก 
- https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ คลิก
- หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 
- กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com คลิก