ทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็นเท็จก็อาจติดคุกได้ | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็นเท็จก็อาจติดคุกได้ |  สกล หาญสุทธิวารินทร์

บริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น โดยต้องมีรายการตามที่กำหนดไว้คือ ชื่อ อาชีพของผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นที่ถือ แยกตามหมายเลขหุ้น จำนวนเงินที่ใช้แล้ว หรือที่ถือว่าเป็นอันได้ใช้เงินแล้ว

วันเดือนปีที่ลงทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือวันเดือนปีที่พ้นจากการเป็นผู้ถือหุ้น เลขหมายใบหุ้นวันเดือนปีของใบหุ้นชนิดออกให้ผู้ถือ หมายเลขหุ้นที่ลงไว้ในใบหุ้นที่ออกให้ผู้ถือ

 - สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น กฎหมายให้สันนิษฐานว่ารายการต่างฯที่ลงไว้ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นนั้นเป็นพยานอันถูกต้อง

 -  เป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทที่ต้องส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น และผู้พ้นจากการเป็นผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นมี รายการตามสมุดทะเบียนไปยังนายทะเบียนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งภายในสิบสี่วันนับแต่วันประชุมสามัญครั้งหลังสุด

- บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ต้องส่งต่อนายทะเบียน  กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ออกแบบเพื่อความสะดวกแก่บริษัท เรียกว่า แบบ บอจ.5

                -  การลงรายการในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ที่เป็นเท็จ คือไม่ตรงกับรายการในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เช่นจะกระทำเพื่อโกงผู้ถือหุ้น เปลี่ยนรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็นบุุคลที่ตนเองต้องการ มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมแบะมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็นเท็จก็อาจติดคุกได้ |  สกล หาญสุทธิวารินทร์

 *สำหรับบริษัทมหาชนจำกัดตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ก็ต้องจัดให้มีสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น มีรายการ ชื่อสัญชาติ ที่อยู่ของผู้ถือหุ้น  ชนิด มูลค่า เลขที่ใบหุ้น จำนวนหุ้น วัน เดือน ปีที่ลงทะเบียนเป็นหรือขาดจากการเป็นผู้ถือหุ้น

            -บริษัท ต้องเก็บรักษาทะเบียนผู้ถือหุ้นและหลักฐานประกอบการลงทะเบียนไว้ที่สำนักงานใหญ่

         -  ทะเบียนผู้ถือหุ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้อง

           - บริษัทต้องยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ในวันสามัญประจำปี โดยมีรายการตามที่กำหนดในมาตรา39 วรรคสอง ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ออกแบบไว้ให้เพื่อความสะดวกคือแบบ บมจ.006ต่อนายทะเบียนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เสร็จการประชุม
        
           -  ผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัท ลงรายการในบัญชีผู้ถือหุ้นเท็จ  เพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ เช่นเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

               คดีลงรายการในบัญชีผู้ถือหุ้นอันเป็นเท็จ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2565

             โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2)

            ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) จำคุก 6 เดือน และปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน จำเลยฎีกา

                ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์กับจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท อ. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 จำเลยคัดข้อมูลจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเอาโจทก์ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดมาเป็นของจำเลย

ทำให้จำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น 90,000 หุ้น ส่งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ตามหนังสือขอส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6

ทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็นเท็จก็อาจติดคุกได้ |  สกล หาญสุทธิวารินทร์

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งตรงกับเอกสารที่แนบท้ายสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จ.11 และตรงกับเอกสารหมาย ล.19 ที่ออกเอกสารวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563

และข้อมูลในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นหน้า 44 ระบุว่า ในปี 2561 โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1141

นอกจากนี้ในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัท ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาสมุดบัญชีเอกสารของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1024 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ไม่เด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำสืบหักล้างได้

จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่ได้ความจากพยานบุคคลของจำเลยปากนายกฤษณ์ว่า การชำระเงินค่าหุ้นเป็นเรื่องระหว่างเจ้าของหุ้นกับผู้ซื้อหุ้น หากดูจากเอกสารหมาย ล.18 แผ่นที่ 3 ระบุว่า โจทก์และนางเมธ์วดี ยังไม่ได้ชำระค่าหุ้น

บริษัทต้องเก็บต้นฉบับบัญชีผู้ถือหุ้นไว้ที่ทำการ ส่วนที่ส่งมายังสำนักทะเบียนพาณิชย์นั้นเป็นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5)

ปากนางสาวอาภาภรณ์ว่า เป็นผู้ทำบัญชีงบการเงิน ในเอกสารหมาย ล.20 ระบุว่า หุ้นบริษัทมีจำนวน 15,000,000 บาท ปากนางสาวรัชนีวรรณว่า เป็นพนักงานบัญชีของบริษัท ว. ซึ่งมีโจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ จำไม่ได้ว่าเอกสารหมาย ล.11 เป็นเอกสารอะไร และโจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงตามที่จำเลยแถลงว่า นางสาววนิดา เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัท อ. ในช่วงปี 2557

และในปีดังกล่าวมีการชำระเงินค่าหุ้นของบริษัทเป็นจำนวน 15,000,000 บาท แล้ว โดยมีผู้ถือหุ้น 4 คน ประกอบกับเมื่อพิจารณาเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งเป็นเอกสารข้อตกลงชำระค่าหุ้นที่มีโจทก์และจำเลยลงลายมือชื่อ มีนายภานุสิทธิ์ ลงลายมือชื่อในฐานะทนายความและเอกสารหมาย ล.6

ซึ่งเป็นมติของบริษัท อ. ที่ให้โอนหุ้นให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2559 ที่มีโจทก์และจำเลยลงลายมือชื่อแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานตามกฎหมายได้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัท อ. มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทำการเปลี่ยนหุ้นในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) 

ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ย่อมมีผลกระทบต่อจำนวนหุ้นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2)  พิพากษายืน.