แผ่นดินไหวและตึกระฟ้าในกรุงเทพมหานคร

ประเทศไทยตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก ในขณะที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ถึงแม้จะอยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวหลายร้อยกิโลเมตร แต่อาจได้รับผลกระทบได้เช่นกัน

เนื่องจากโครงสร้างชั้นดินใต้พื้นที่นี้มีลักษณะเป็นชั้นดินเหนียวอ่อนหนา ซึ่งมีความสามารถในการขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวขึ้นได้ ถึงแม้ว่าจะอยู่ไกลจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวก็ตาม

ประเทศไทยมีประกาศกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เมื่อปี พ.ศ. 2550 และมีการปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ.2564

กฎกระทรวงดังกล่าวบังคับให้ผู้ออกแบบ ออกแบบอาคารให้สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวให้ได้ตามข้อกำหนดและมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 1,569 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าไม่ใหญ่มากเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่น แต่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 5 ล้านคน และยังเป็นพื้นที่ที่มีการรวมธุรกิจประเภทต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ส่งผลให้มูลค่าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมีราคาสูงขึ้นตามลำดับ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีราคาสูงนี้ให้มีคุณค่าและมีมูลค่าสูงสุด

นักลงทุนจึงนิยมก่อสร้างอาคารประเภทต่าง ๆ ให้มีลักษะเป็นอาคารที่มีความสูงเป็นพิเศษและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุนและดึงดูดลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการ เช่น คอนโดมิเนียม โรงแรม อาคารสำนักงาน เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจำนวนอาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า มีจำนวนอาคารสูงมากกว่า 14,000 หลัง เป็นอาคารสูงที่ขออนุญาตและก่อสร้างหลังจากกฎกระทรวงปี พ.ศ.2550 ประมาณ 3,000 หลัง

แผ่นดินไหวและตึกระฟ้าในกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม อาคารสูงอีกประมาณ 11,000 หลัง ออกแบบและก่อสร้างก่อนกฎกระทรวงปี พ.ศ.2550 จะประกาศใช้งาน แต่กลุ่มอาคารสูงเหล่านี้ได้มีการพิจารณาผลกระทบจากแผ่นดินไหวในขั้นตอนการออกแบบแล้วในเบื้องต้น แต่อาจไม่เทียบเท่ากับกฎกระทรวงและมาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน

แผ่นดินไหวถึงแม้จะมีแหล่งกำเนิดไกลหลายร้อยกิโลเมตรจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่บ่อยครั้งที่ผู้ใช้งานอาคารสูงหลายแห่งในพื้นกรุงเทพมหานครสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นได้ ดังจะเห็นจากสื่อต่าง ๆ

ล่าสุดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.0 ที่เกิดขึ้นนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2566 ช่วงเวลาประมาณ 8.40 น. ส่งผลกระทบต่ออาคารสูงหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จนทำให้เกิดความตระหนกและความกังวลต่อผู้ใช้งานในขณะนั้น

เนื่องจากระบบเตือนภัยด้านแผ่นดินไหวล่วงหน้าของประเทศยังไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งไม่ทราบถึงระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่ได้มีการติดตั้งระบบตรวจวัดการสั่นสะเทือนของอาคารไว้

และเมื่อเหตุการณ์สงบแล้วไม่สามารถทราบได้ว่าอาคารอยู่ในสภาพที่มีความปลอดภัยสำหรับใช้งานต่อได้หรือไม่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจจำนวนมากทั่วกรุงเทพมหานคร

ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ ระบบการแจ้งเตือนที่ไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน จำเป็นที่ต้องได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเฝ้าระวังแผ่นดินไหว หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร และสถาบันการศึกษา เป็นต้น

แผ่นดินไหวและตึกระฟ้าในกรุงเทพมหานคร

แต่สำหรับการตรวจสอบระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนอาคารสูงและแจ้งเตือนต่อผู้ใช้งาน รวมถึงการประเมินสมรรถนะของโครงสร้างอาคารหลังจากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้น สามารถดำเนินการได้ด้วยการติดตั้งระบบตรวจสอบสมรรถนะของโครงสร้าง (Structural Health Monitoring, SHM)

ระบบ SHM คือ การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนบนอาคารในตำแหน่งต่าง ๆ ให้ครอบคลุมความสูงของอาคาร และบันทึกข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกจะถูกนำมาใช้สำหรับการวิเคราะห์ระดับความรุนแรงและการประเมินสมรรถนะของอาคาร

แต่ปัจจุบันระบบดังกล่าวยังไม่ได้มีการติดตั้งอย่างแพร่หลายบนอาคารสูง เนื่องจากราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งมีความเชื่อว่าโอกาสที่แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นมีไม่มากและไม่มีความรุนแรง

จึงยังไม่มีความจำเป็นในการติดตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันระบบ SHM มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีราคาลดลงมากกว่าในอดีต ผนวกกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่ออาคารสูงเริ่มมีบ่อยครั้งขึ้น อาจทำให้เจ้าของอาคารสนใจที่จะติดตั้งระบบ SHM เพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต

ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญกับอาคารสูงและอาคารที่มีความสำคัญต่าง ๆ ต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวมากขึ้น โดยมีความร่วมมือกับนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการพัฒนาระบบ SHM และได้เริ่มโครงการนำร่องติดอุปกรณ์ดังกล่าวบนอาคารสูงบ้างแล้ว

เพื่อตรวจวัดระดับการสั่นสะเทือนของอาคารและสามารถแจ้งเตือนระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่าส่งผลกระทบต่ออาคารมากน้อยเพียงใดต่อประชาชน และมีแผนที่จะทำการติดตั้งเพิ่มเติมบนอาคารที่มีความสำคัญต่าง ๆ

นอกจากนี้ เมื่อระบบ SHM มีการติดตั้งเพิ่มมากขึ้นจะสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดสู่งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำมาพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดีในอนาคตด้วย.