กรมทรัพยากรธรณี ชี้ ตึกสูง กทม. รองรับแผ่นดินไหวได้ พร้อมระบบการเตือน

กรมทรัพยากรธรณี ชี้ ตึกสูง กทม. รองรับแผ่นดินไหวได้ พร้อมระบบการเตือน

กรมทรัพยากรธรณี ระบุ ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ตึกสูง กทม. ออกแบบรองรับแผ่นดินไหวได้ พร้อมมีระบบการเตือน และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำถ้าเกิดแผ่นดินไหว

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 จากรายงานสถานการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0  (15.266°N , 96.248°E ) เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณอ่าวเบงกอล นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 490 กิโลเมตร และมีแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) จำนวน 1 ครั้ง ขนาด 3.6 เวลา 08.57 น.

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า สถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ มีสาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกายในประเทศเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ดังนี้
 

1) กรุงเทพมหานคร 22 เขต (พื้นที่เขตดุสิต จตุจักร บางเขน สีลม ลาดพร้าว บางพลัด ราชเทวี ทุ่งครุ ปทุมวัน ห้วยขวาง หลักสี่ ดินแดง พญาไท คลองเตย ราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน หนองแขม คลองสาน สาทร บางรัก สวนหลวง คันนายาว)

2) จังหวัดนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมือง

3) จังหวัดปทุมธานี เทศบาลนครรังสิต

เนื่องจากกรุงเทพมหานคร รองรับด้วยชั้นดินเหนียวอ่อน เมื่อมีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากระยะไกล จะสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้มากถึง 3 เท่าส่งผลให้ประชาชนบนอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ได้ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย

ประชาชนใน กทม. ที่อยู่อาคารสูงตั้งแต่ความสูง 5 – 45 ชั้น จะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน ถือเป็นเรื่องปกติ แต่จะไม่มีความเสียหายใดๆ ต่ออาคารบ้านเรือนของประชานในพื้นที่ดังกล่าว 

กรมทรัพยากรธรณี ชี้ ตึกสูง กทม. รองรับแผ่นดินไหวได้ พร้อมระบบการเตือน

นายสุวิทย์ กล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา การก่อสร้างอาคารใน กทม. จะต้องก่อสร้างภายในกฎกระทรวงกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่กำหนดให้การออกแบบรองรับแผ่นดินไหวได้ ดังนั้นแผ่นดินไหวเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และเชื่อได้ว่าจะยังมีเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีก โดยในระลอกนี้จะเกิดขึ้นในขนาดที่จะเล็กลงเรื่อยๆ ซึ่งตึกสูงจะมีระบบการเตือน และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำถ้าเกิดแผ่นดินไหว


ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณราบอ่าวเบงกอลในรอบ 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2566 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.1 – 5.4 รวมจำนวนทั้งสิ้น 28 ครั้ง โดยมีขนาดมากกว่า 5.0 จำนวน 3 ครั้ง