ม้ากับ ‘การุณยฆาต’ | วรากรณ์ สามโกเศศ

ม้ากับ ‘การุณยฆาต’ | วรากรณ์ สามโกเศศ

สงสัยมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าทำไมเขาต้องฆ่าม้าที่วิ่งล้ม บ่อยที่สุดในหนังคาวบอยก็คือยิงทันที และหากเป็นสนามม้าแข่งก็ยิงกันตรงทางวิ่งนั้นเลย มันช่างโหดร้ายแต่ก็ด้วยการอ้างเหตุผลว่าเป็นการฆ่าเพื่อไม่ให้เจ็บปวดทรมาน คือเป็น “mercy killing” หรือ “การุณยฆาต”

บัดนี้พอเข้าใจแล้วว่ามันมีเรื่องเงินเรื่องทองกับวิทยาศาสตร์ปนอยู่ในการตัดสินใจ “อาหารสมอง” จานนี้ ขอนำมาแชร์กันเพราะมีแง่มุมให้คิดอย่างน่าสนใจ

ม้ามีลักษณะพิเศษไม่เหมือนสัตว์อื่นหลายประการ ทั้งตัวมีกระดูกรวม 205 ชิ้น ในจำนวนนี้มีอยู่ 80 ชิ้นอยู่ที่ส่วนขา นอกจากนี้ 58% ของน้ำหนักทั้งตัวแบกรับโดยสองขาหน้า ระบบอันซับซ้อนเชื่อมต่อกันของกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นที่ยึด เอ็นร้อย กล้ามเนื้อเอ็น เส้นใยของเนื้อเยื่อ กระดูกอ่อน กระดูก เส้นเลือด เส้นประสาท ฯลฯ ทำให้วิ่งได้เร็ว

แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุของการสร้างความเจ็บปวดและความเสียหายได้อย่างร้ายแรงหากสะดุดล้มขณะวิ่ง

ม้าแข่งหนักราว 500 กิโลกรัม วิ่งด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากไปกระทบหรือชนกับม้าตัวอื่น หรือเบียดกับราวไม้หรือโลหะของทางวิ่งก็จะล้มกระเด็นอย่างแรงมาก สองขาหน้าที่รับน้ำหนักมากเป็นพิเศษมีโอกาสหักเป็นท่อนโดยเกิดขึ้นบ่อยที่สุด

นอกจากนี้เมื่อขาหัก การไหลเวียนของเลือดในส่วนขาก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาทันที ความเจ็บปวดของม้านั้นไม่ต้องพูดถึง เมื่อขาหักออกเป็นท่อนๆ กระดูกก็มักแทงออกมานอกหนังอีกด้วย

อุบัติเหตุกับขาเช่นนี้เกิดได้จากการซ้อมวิ่ง วิ่งแข่ง ขณะเดินอยู่ เตะคอกหรือประตูคอก สู้กับม้าตัวอื่น วิ่งชนขณะตื่นตระหนก ฯลฯ ขาที่แข็งแรงแต่เปราะบางนี้คือจุดอ่อนของม้า และเป็นสาเหตุสำคัญของการฆ่าเพื่อระงับความทุกข์ทรมานดังที่เรียกว่า mercy killing หรือ euthanasia

เหตุผลหนึ่งที่ต้องฆ่าม้าแข่งก็คือ การรักษาพยาบาลเพื่อให้ขากลับมาเหมือนสภาพเดิมนั้นเป็นไปไม่ได้

เพราะม้านั้นยืนเสมอแม้แต่ยามนอน หากม้านอนราบลงไปกับพื้นเป็นเวลาเกินกว่า 2-3 ชั่วโมง ก็จะเกิดปัญหากับระบบการไหลเวียนของเลือด กล้ามเนื้อถูกทำลาย เลือดคั่งที่ปอด ฯลฯ หากผ่าตัด ดามเหล็ก ใส่เฝือกที่ขา น้ำหนักก็จะไปลงอีก 3 ขา และในเวลาไม่นานก็จะเกิดปัญหากับขาอื่นด้วย

ประเด็นที่สำคัญคือ ม้าไม่เคยอยู่นิ่งโดยเฉพาะม้าแข่ง มันจะเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา จนการใส่เฝือกแทบไม่เกิดประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้นมันอาจตื่นกลัว เตะคอกจนปวดเจ็บมากยิ่งขึ้น มีการเรียนรู้มายาวนานว่าการรักษาม้าขาหักแบบที่รักษาสัตว์อื่นนั้นเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้

ม้ากับ ‘การุณยฆาต’ | วรากรณ์ สามโกเศศ

การตัดสินใจว่าจะฆ่าหรือเอาไปรักษาพยาบาลเพื่อให้กลับมาวิ่งได้เหมือนเดิม โดยมีเรื่องเงินทองเข้ามาปนอยู่ด้วยจึงเกิดขึ้น หากเจ้าของม้าเลือกการฆ่าก็สูญเสียม้าซึ่งอาจมีราคาสูงเป็นแสนเป็นล้าน เรื่องทุกอย่างก็จบลงโดยไม่เสียเงินมากกว่านี้ และช่วยให้ไม่เจ็บปวด

แต่ถ้าเลือกทางเลือกที่สองก็จะต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาลอีกมหาศาล และรู้ดีว่าไม่มีโอกาสกลับมาวิ่งแข่งได้เหมือนเดิม นอกจากนี้ก็มีค่าดูแลเลี้ยงดูในอนาคตอีก

ตัวอย่างเรื่องจริงที่เกิดขึ้นต่อไปนี้ชี้ให้เห็นประเด็นของการตัดสินใจเลือก กล่าวคือในการแข่งขัน Kentucky Derby ประจำปีซึ่งเป็นสุดยอดของการแข่งม้าระดับโลกที่รัฐ Kentucky สหรัฐ ในปี 2549 ผู้ชนะคือม้าชื่อ Barbaro แต่อีกสองอาทิตย์ต่อมาเกิดขาหักขณะแข่ง เจ้าของตัดสินใจรักษาถึงแม้ขาหักหนักหนามากก็ตาม โดยหักออกเป็น 20 ท่อน ต้องผ่าตัดอยู่ 5 ชั่วโมงโดยใส่หมุดโลหะเชื่อมกระดูก 27 ชิ้น และเสริมด้วยแผ่นโลหะไร้สนิม 

การผ่าตัดเรียบร้อยดีแต่สองเดือนหลังจากนั้น Barbaro ก็มีอาการของโรคประจำม้าคือ laminitis ซึ่งเป็นการบวมอักเสบภายในขาส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างกีบม้ากับกระดูกเอ็น ซึ่งสร้างความเจ็บปวดอย่างมากจนต้องตัดกีบม้าออก และต้องผ่าตัดอีกครั้ง

จากนั้นโรคนี้ก็ลามไปอีก 2 ขา จนเจ้าของต้องตัดสินใจใช้วิธี euthanasia เพื่อไม่ให้เจ็บปวดอย่างเรื้อรังมากไปกว่านี้ รวมเวลาทั้งหมดที่อยู่รอดคือ 8 เดือน

เรื่องราวของ Barbaro เป็นที่กล่าวขวัญ และใช้เป็นจุดอ้างอิงในการตัดสินใจเมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้นกับม้าซึ่งมีอยู่บ่อยๆ อาจมีข้อสงสัยว่าถ้าให้ยาแก้ปวดแก่ม้ากินเป็นประจำเหมือนมนุษย์แล้วจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่ สัตวแพทย์ตอบว่าม้าตื่นตระหนกง่าย ในยามที่ไม่เจ็บปวดอาจเตะคอกม้าหรือวิ่งชนคอกจนขาหักอีกได้เสมอจนเป็นปัญหาเพิ่ม 

ครั้นจะให้ออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งก็เป็นไปได้ยาก เพราะการเดินหรือวิ่งเป็นไปอย่างลำบากและต้องระวังมาก เพราะกระดูกไม่เชื่อมต่อประสานกันดีแต่แรก เพราะมีการเคลื่อนไหวจนเฝือกที่เคยใส่แทบไร้ประโยชน์

สำหรับข้อสงสัยว่าถ้าเป็นม้าแข่งมีชื่อ จะรักษาและเก็บไว้ทำพ่อพันธุ์โดยไม่แข่งอีกจะไม่ดีกว่า euthanasia หรือ ผู้เขียนได้ค้นประเด็นนี้และพบว่าเจ้าของก็คงคิดสะระตะเรื่องเงินทองในประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน เพราะเงินจากการเป็นเจ้าของม้าแข่งนั้นมาจากการเป็นพ่อพันธุ์ผสมมากมายกว่าการได้รับรางวัลจากการแข่งขัน 

แต่การจะเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีจนมีคนยินดีจ่ายเงินค่าผสมพันธุ์นั้นต้องเป็นม้าที่ชนะมีชื่อเสียง ร่างกายต้องแข็งแกร่งโดยพิสูจน์ว่ามีพันธุกรรมที่สามารถต่อสู้สารพัดปัญหาได้ดี หากพ่อพันธุ์อยู่ในสภาพที่ต้องดูแลรักษาพยาบาลแล้ว ก็คงไม่สร้างศรัทธาให้คนมาใช้บริการ นอกจากนี้แล้วการแข่งขันในธุรกิจนี้ก็เป็นไปอย่างเข้มข้นยิ่ง

ในวงการกีฬาแข่งม้าชั้นยอดของโลกนั้น พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ (ม้าแข่งมีทั้งเพศผู้และเมีย) มีอยู่เป็นร้อยเป็นพันตัวที่ล้วนมีเพ็ดดีกรี เป็นลูกหลานแชมเปี้ยนมาหลายชั่วคน (ม้า) ดังนั้น การทำงานในฐานะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับม้าพิการเลย

การตัดสินใจว่าจะให้มันตายหรือมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยเอาไปรักษานั้นน่าสมเพช ม้าไม่มีสิทธิร่วมตัดสินใจด้วยถึงแม้มันอาจทำเงินให้เจ้าของแล้วอย่างมหาศาลก็เป็นได้ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยตัดสินใจก็คือเงินทองเพราะมันเป็นธุรกิจ

เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยถ้าไม่มีจุดอ่อนเรื่องโครงสร้างทางชีววิทยาที่เกี่ยวกับส่วนขาและความเด็ดเดี่ยวของหัวใจในการวิ่งแข่งอย่างไม่ยอมแพ้ของม้า

ขณะนี้มีแรงกดดันในระดับโลกเกี่ยวกับ “การุณยฆาต” ของม้าอยู่ไม่น้อย เราควรสนับสนุนไม่ให้การฆ่าเกิดขึ้นอย่างง่ายเกินไป กฎหมายควรมีกฎเกณฑ์ที่เข้มข้น พร้อมกับเร่งรัดพัฒนาการรักษาพยาบาลด้วยศาสตร์และเครื่องมือสมัยใหม่

โดยอย่างน้อยให้ม้ากลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีพอควร มีโอกาสเดินวิ่งใน ทุ่งหญ้าอย่างมีความสุข นี่คือคุณธรรมที่มนุษย์ควรมีต่อสัตว์ผู้มีบุญคุณและเป็นเพื่อนร่วมโลก