ยอดขายขยับ! กลุ่มสุราผลไม้แปดริ้วจ่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่รับ 'สุราก้าวหน้า'

ยอดขายขยับ! กลุ่มสุราผลไม้แปดริ้วจ่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่รับ 'สุราก้าวหน้า'

กลุ่มสุราผลไม้แปดริ้วตื่นตัว! เตรียมเพิ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรสูตรใหม่เข้าสู่ตลาด รอรับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะผลักดัน 'สุราก้าวหน้า' หลังยอดขายเริ่มขยับดีขึ้น แจงติดปัญหาเรื่องข้อจำกัด วอนปรับแก้ให้ผู้ผลิตรายเล็กได้มีโอกาสเปิดตัวสินค้า

วันที่ 8 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก น.ส.ปคุณา บุญก่อเกื้อ เจ้าของฟาร์มเกษตรเมล่อน วัย 43 ปี ในพื้นที่ ม.1 ต.ท่าพลับ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัยสูง ที่ได้นำผลผลิตมาทำการแปรรูปเป็น 'ไวน์ผลไม้' ว่า หลังจากมีกระแสเกี่ยวเรื่อง 'สุราก้าวหน้า' ในสื่อสังคม ปัจจุบันทำให้สุราแช่หรือสุราชุมชนกลับมาได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น

 

 

จนทำให้ปัจจุบันมีผู้สนใจในสินค้าของเรา เข้ามาท่องเที่ยวศึกษาดูงานที่ฟาร์มมากขึ้น และยังทำให้ยอดการจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ถึงร้อยละ 50 จากเมื่อช่วงก่อนหน้าจากเดิมที่เคยวางจำหน่ายได้แต่เพียงหน้าฟาร์ม โดยผลิตภัณฑ์ของเรานั้นเป็นสินค้าที่มาจากชุมชนอย่างแท้จริง เกิดจากการหมัก 100 เปอร์เซ็นต์ จนเป็นไวน์รสหวาน (Sweet wines) รับประทานง่าย มีแอลกอฮอล์เบาๆ จนปัจจุบันนี้สามารถผลิตออกมาได้รวม 5 สูตร 5 รสชาติ

 

ประกอบด้วย 'สุราแช่สีเขียว' ที่มีความหอมหวานดื่มง่าย ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้มาจาก 'เมล่อนเนื้อสีเขียว' หรือสายพันธุ์อาซาฮี ซึ่งเป็นสายพันธุ์จากญี่ปุ่นที่นำมาปลูกภายในฟาร์ม และแอลกอฮอล์ที่ได้ในปริมาณ 4.8 เปอร์เซ็นต์นั้นล้วนได้มาจากการหมักตามกระบวนการทางธรรมชาติทั้งสิ้น รวมระยะเวลาการหมัก 6 เดือน

 

ขณะที่ 'สุราแช่สีเหลือง' นั้นมีปริมาณแอลกอฮอล์ 5 เปอร์เซ็นต์ ได้มาจาก 'เมล่อนเนื้อสีเหลือง' สายพันธุ์จันทร์ฉาย สายพันธุ์บารมี และพันธุ์อาซาฮี ซึ่งจะมีรสชาติหวานน้อยกว่าสีเขียว เนื่องจากเมล่อนเนื้อสีส้มนั้นจะมีเฉพาะความหวานและกรอบ แต่จะไม่มีความหอม จึงมีกลิ่นหอมน้อยกว่าสีเขียว

 

ส่วนผลิตภัณฑ์ถัดมานั้นเป็น 'สาโทไทย' ซึ่งมีสีเหลืองใสที่ได้จากการหมักด้วยข้าว กข43 จากผลผลิตในนาข้าวของกลุ่มสมาชิก ที่ทำการเพาะปลูกในท้องนาของคนในชุมชน โดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ 5.2 เปอร์เซ็นต์

 

 

นอกจากนี้ยังมีการผลิตสุราแช่ที่ได้จากการหมักข้าวหอมนิล จะมีน้ำสีเหลืองเข้มและได้ปริมาณแอลกอฮอล์มากขึ้นที่ 5.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้งสีและกลิ่นนั้นออกมาจากเมล็ดข้าวทั้งสิ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ตัวสุดท้ายนั้นถือเป็น 'ไวน์' ขนาดแอลกอฮอล์ 10 ดีกรี ที่หมักจากเมล่อนมีกลิ่นหอมจางๆ เนื่องจากใช้เวลาหมักนานเป็นเวลา 12 เดือน

 

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตไวน์มีสมาชิกจำนวน 8 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยในชุมชนที่มารวมตัวกันสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ โดยได้นำภูมิปัญญาจากคนยุคเก่ามาใช้ เช่น การหั่น การหมัก เมื่อเรามีการดำเนินงานในรูปแบบของสหกรณ์ที่มีสมาชิก 88 ราย มี 153 โรงเรือนแล้ว จึงทำให้เราสามารถส่งเมล่อนขายขึ้นเครื่องสู่การบินไทยได้ ตามโครงการของ จ.ฉะเชิงเทรา และยังผลิตและส่งสินค้าไปจำหน่ายยังในห้างโมเดิร์นเทรดหลายแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออก แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าผลผลิตประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์นั้นจะเป็นสินค้าตกไซส์ หรือ เกรดรอง จึงได้นำสินค้าในส่วนนี้มาแปรรูปทำเป็น 'สุราแช่' เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

 

สำหรับกำลังการผลิตสุราแช่ หรือ ไวน์ผลไม้ รวมทุกรสชาตินั้นอยู่ที่สัปดาห์ละ 1 หมื่นขวด ขณะที่ปัจจุบันสามารถขายได้ประมาณ 3 พันกว่าขวดต่อเดือน ในอนาคตหากมีการส่งเสริม 'สุราก้าวหน้า' ทางกลุ่มจะทำการแปรรูปสินค้าเกษตรทุกชนิดที่สมาชิกปลูกในกลุ่ม เช่น มะม่วงหาวมะนาวโห่ หรือผลไม้อื่นๆที่ปลูกแล้วเกิดการผิดพลาด ผลไม่ได้ขนาด แต่ยังคงมีคุณค่าสมบูรณ์เช่นเดียวกันกับสินค้าพรีเมี่ยมที่คัดเกรดแล้ว รวมถึงการผลิตในปริมาณที่มากเกินไป เราจะทำการรับซื้อจากเกษตรกรเพื่อมาเข้าสู่โรงบ่มทั้งหมด

 

ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรไทย ในการแปรรูปสินค้าเกษตรแล้วนำมาขาย จึงอยากจะฝากไปถึงยังรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศว่า ขอให้ช่วยเหลือให้เรามีพื้นที่ยืนในตลาด กฎหมายบางอย่างควรเปิดโอกาสให้สามารถโฆษณาได้บ้าง รวมถึงข้อจำกัดต่างๆจากที่ได้พบมาคือ เวลานำไปฝากขายตามร้านค้าของฝาก หรือห้างร้านอื่นๆนั้นจะมีปัญหาในเรื่องของเวลาในการจำหน่าย ที่มีกำหนดให้ขายเฉพาะช่วงเวลาที่กำหนด

 

ข่าว สนทะนาพร อินจันทร์ จ.ฉะเชิงเทรา