วันวิสาขบูชา 2566 พุทธศาสนิกชนไทย-ลาวแน่นวัดพระธาตุพนมแห่ไหว้อุรังคธาตุ

วันวิสาขบูชา 2566 พุทธศาสนิกชนไทย-ลาวแน่นวัดพระธาตุพนมแห่ไหว้อุรังคธาตุ

'วันวิสาขบูชา 2566' พุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวลาวแห่ไหว้อุรังคธาตุแน่นวัดพระธาตุพนม เชื่อเหมือนได้ใกล้ชิดเบื้องพระบาทพระพุทธเจ้า

'วันวิสาขบูชา 2566' วันที่ 3 มิถุนายน 2566 วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ตั้งแต่ช่วงเช้าเป็นต้นมามีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวลาว ตลอดจนพุทธศาสนิกชน นักท่องเที่ยวทั่วสารทิศ ทางเดินทางมาทำบุญกราบไหว้ขอพร 'องค์พระธาตุพนม' สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี

 

 

โดยจากตำนานพระอุรังคนิทาน บันทึกไว้ว่า ได้มีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 8 หรือหลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ 8 ปี ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากภายในองค์พระธาตุพนมเป็นที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า ทำให้เป็นสถานที่สำคัญ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา รวมถึงวันวิสาขบูชา ได้มีประชาชน นักท่องเที่ยว พุทธศาสนิกชนทั่วโลก เดินทางมากราบไหว้ขอพร เสมือนได้ใกล้ชิดเบื้องพระบาทสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยตลอดทั้งวันวิสาขบูชา 2566 นี้ จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา รวมถึงมีการเวียนเทียนถวายเป็นพุทธบูชาไปจนถึงช่วงเย็น

 

วันวิสาขบูชา 2566 พุทธศาสนิกชนไทย-ลาวแน่นวัดพระธาตุพนมแห่ไหว้อุรังคธาตุ

 

ขณะเดียวกันได้ส่งผลดีต่อบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่จำหน่ายดอกไม้ ถวายเป็นพุทธบูชา โดยเฉพาะดอกบัว ดอกดาวเรือง เท่าที่สังเกตการณ์มีราคาแพงขึ้นเท่าตัว เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศแห้งแล้ง มีผลกระทบต่อการปลูก ผลผลิตออกดอกน้อยหายาก ดอกบัวจึงมีราคาแพงถึงดอกละ 10 บาท ส่วนดอกดาวเรืองมีราคาดอกละ 1 - 2 บาท แม้ดอกไม้จะมีราคาสูงขึ้น ศาสนิกชนชาวพุทธก็ยินดีซื้อเพื่อนำไปกราบไหว้ถวายเป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุพนม

 

วันวิสาขบูชา 2566 พุทธศาสนิกชนไทย-ลาวแน่นวัดพระธาตุพนมแห่ไหว้อุรังคธาตุ

 

ทั้งนี้สิ่งสำคัญชาวพุทธยังได้น้อมรำลึก 48 ปี สำหรับการยืนยันที่ค้นพบพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า ภายหลังเกิดเหตุการณ์องค์พระธาตุพนมล้มเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 ทำให้มีการพบผอบบรรจุพระอุรังคธาตุ จำนวน 8 องค์ โดยจากที่เคยศึกษาตามประวัติเรื่องเล่าตำนานพระอุรังคนิทานมาตั้งแต่การก่อสร้างองค์พระธาตุพนม ที่บันทึกถึงการบรรจุพระอุรังคธาตุ แต่ไม่มีช่องทางเข้าไปค้นหาได้ เนื่องจากลักษณะพระธาตุองค์เดิมถูกปิดตายด้วยดินเผาทุกด้าน จนกระทั่งพระธาตุพนมล้มลง จึงเข้าไปค้นหาและเป็นสิ่งยืนยันว่าภายในมีการบรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้าไว้จริง

 

วันวิสาขบูชา 2566 พุทธศาสนิกชนไทย-ลาวแน่นวัดพระธาตุพนมแห่ไหว้อุรังคธาตุ

 

 

ตามตำนานพระอุรังคนิทาน ระบุไว้ว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางอากาศ เพื่อไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูร สปป.ลาว ภายหลังได้มาประทับแรมที่ภูกำพร้า คือ จุดที่ก่อสร้างองค์พระธาตุพนมในปัจจุบัน จากนั้นพญาอินทร์ ได้เสด็จมาทูลถาม ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า เช่นกันกับพระพุทธองค์ เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสะปะ ผู้เป็นสาวก จะได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้เช่นกัน

 

วันวิสาขบูชา 2566 พุทธศาสนิกชนไทย-ลาวแน่นวัดพระธาตุพนมแห่ไหว้อุรังคธาตุ

 

ภายหลัง พระพุทธเจ้าปรินิพาน พระมหากัสสะปะ ผู้เป็นสาวก ได้ร่วมกันสร้างองค์พระธาตุพนมขึ้น เพี่ออัญเชิญพระอุรังคธาตุมาประดิษฐาน ในปี พ.ศ. 8 ทั้งนี้จากหลักฐานที่พบ ระบุว่าสร้างในราวประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 14 สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร กำลังเจริญรุ่งเรือง โดยการนำของพญาเจ้าเมืองทั้ง 5 และพระอรหันต์ 500 องค์ ได้ก่อสร้างจากดินดิบเป็นเตาสี่เหลี่ยม ข้างในเป็นโพรงมีประตูทั้ง 4 ด้าน

 

ต่อมาได้มีการบูรณะครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 500 และทำการบูรณะต่อเนื่องมารวมถึง 6 ครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 พระธาตุพนมได้พังทลายลงเนื่องจากฐานเก่าแก่ ทำให้เป็นที่ฮือฮาเพราะได้พบเห็นผอบแก้วบรรจุพระอุรังคธาตุ 8 องค์ไว้ภายใน และมีการลงเข็มรากสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่ เมื่อปี 2519 เป็นเจดีย์ทรงฐาน 4 เหลี่ยม ความสูงจากพื้นถึงยอดฉัตร 57 เมตร ฐานกว้างด้านละประมาณ 12 เมตร ยอดฉัตรเป็นทองคำ โดยภายในบนชั้น 3 ขององค์พระธาตุได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า ประดิษฐานไว้อย่างวิจิตร จากนั้นทุกปีได้มีการจัดพิธีเฉลิมฉลอง บูชาองค์พระธาตุพนมสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ที่สำคัญถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ ส่งผลดีทั้งการท่องเที่ยว และสร้างเศรษฐกิจเงินหมุนเวียนสะพัดตลอดทั้งปี

 

วันวิสาขบูชา 2566 พุทธศาสนิกชนไทย-ลาวแน่นวัดพระธาตุพนมแห่ไหว้อุรังคธาตุ

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542  ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN) สมัยสามัญ ครั้งที่ 54 สรุปความว่า วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของสหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ และมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้วันวิสาขบูชาถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลก

 

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวล มนุษย์ทั้งหลายในโลก จะเห็นได้จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ให้รู้จักช่วยเหลือสัตว์ เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน

 

วันวิสาขบูชา 2566 พุทธศาสนิกชนไทย-ลาวแน่นวัดพระธาตุพนมแห่ไหว้อุรังคธาตุ

 

ข่าว พงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล จ.นครพนม