กรมควบคุมมลพิษ เตือนปัญหาคุณภาพน้ำ ช่วงต้นฤดูฝน

กรมควบคุมมลพิษ เตือนปัญหาคุณภาพน้ำ ช่วงต้นฤดูฝน

กรมควบคุมมลพิษ เตือนปัญหาคุณภาพน้ำ ช่วงต้นฤดูฝน มีการชะล้างสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลให้น้ำมีความขุ่นและตะกอนแขวนลอยเพิ่มขึ้นเกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำ

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และโฆษกกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน โดยในช่วงต้นฤดูฝนจะมีการชะล้างสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ลงสู่แหล่งน้ำ เป็นจำนวนมาก เช่น น้ำเสียที่ตกค้างอยู่ในท่อระบายน้ำเสีย น้ำชะจากพื้นที่เกษตร น้ำฝนที่ชะกองวัสดุสารเคมีและวัตถุอันตรายต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้คุณภาพน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เช่น ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความเป็นกรด - ด่าง และความขุ่นของน้ำอย่างรวดเร็วหลังฝนตก เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ โดยจากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดินทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน พบว่า แหล่งน้ำจะอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมเพิ่มมากขึ้น หรืออยู่ในเกณฑ์แหล่งน้ำประเภทที่ 4 สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรม ส่วนการใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคและบริโภคต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติ และผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นพิเศษก่อน  

กรมควบคุมมลพิษ เตือนปัญหาคุณภาพน้ำ ช่วงต้นฤดูฝน

นายพิทยา กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดจากการชะล้างสิ่งปนเปื้อนในช่วงต้นฤดูฝนส่งผลให้น้ำมีความขุ่นและตะกอนแขวนลอยเพิ่มขึ้นเกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาจะมีปัญหาในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนของเหงือกจนทำให้ปลาตายได้คราวละมากๆ ในระยะเวลาอันสั้นหรือที่เรียกว่าอาการน็อคน้ำ (Fish kill) ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังควรเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำ เช่น เตรียมเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจน โดยเมื่อฝนหยุดตกควรเปิดเครื่องตีน้ำและควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลงหรืองดให้อาหารในวันที่ฝนตกเพื่อลดปริมาณของเสียในบริเวณกระชัง เป็นต้น

กรมควบคุมมลพิษ เตือนปัญหาคุณภาพน้ำ ช่วงต้นฤดูฝน

ทั้งนี้ คพ. ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในการป้องกันปัญหาคุณภาพน้ำในช่วงฤดูฝน โดยการจัดเก็บสารเคมี วัตถุอันตรายที่ใช้ในการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบ้านเรือน ให้อยู่ในที่ปลอดภัยและพ้นน้ำ ดูแลบ่อเก็บกักน้ำเสีย/บ่อบำบัดน้ำเสียและสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ไม่ให้เกิดการรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำหรือออกสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้หากพบปัญหาน้ำเสียหรือสารเคมีรั่วไหลประชาชนผู้พบเหตุสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินมายังกรมควบคุมมลพิษผ่านทางสายด่วน 1650