กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศวันพรุ่งนี้ - อัปเดตล่าสุดไทยเข้าฤดูฝนวันไหน

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศวันพรุ่งนี้ - อัปเดตล่าสุดไทยเข้าฤดูฝนวันไหน

'กรมอุตุนิยมวิทยา' พยากรณ์อากาศวันพรุ่งนี้ ไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนอง เตือนเหนือ-อีสาน-กลาง 'อากาศร้อนจัด' พร้อมกับประกาศล่าสุด! ไทยเข้าสู่ 'ฤดูฝน' ปลายเดือน พ.ค.นี้

'กรมอุตุนิยมวิทยา' พยากรณ์อากาศวันพรุ่งนี้ (20 พฤษภาคม 2566) ลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดไว้ด้วย

 

สำหรับลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย

 

อนึ่งในช่วงวันที่ 22 - 25 พฤษภาคม 2566 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

 

ฝุ่นละอองในระยะนี้ ประเทศไทยมีการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงปานกลาง เนื่องจากยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ และมีการระบายอากาศดี

 

 

กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ 18:00 น. วันนี้ ถึง 18:00 น. วันพรุ่งนี้

 

ภาคเหนือ

อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 24-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางแห่ง โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย ชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ อุณหภูมิต่ำสุด 24-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

 

ภาคกลาง

อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางแห่ง โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี และราชบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

 

ภาคตะวันออก

อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 27-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

 

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดสุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 25-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

 

 

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

 

กรุงเทพและปริมณฑล

อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

 

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศวันพรุ่งนี้ - อัปเดตล่าสุดไทยเข้าฤดูฝนวันไหน

 

ทั้งนี้ 'กรมอุตุนิยมวิทยา' ยังได้ประกาศการสิ้นสุดฤดูร้อน และจะเริ่มต้นเข้าสู่ 'ฤดูฝน' ของประเทศไทย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566

 

ประเทศไทยจะสิ้นสุดฤดูร้อน และเริ่มต้นเข้าสู่ 'ฤดูฝน' ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เนื่องจากการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่า จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับผิวพื้นถึงความสูงประมาณ 3.5 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้

 

ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะน้อยกว่าค่าปกติเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 5 และน้อยกว่าปี 2565 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคมจะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง อาจส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน

 

ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมี 'พายุหมุนเขตร้อน' เคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่

 

สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม

 

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศวันพรุ่งนี้ - อัปเดตล่าสุดไทยเข้าฤดูฝนวันไหน

 

ประกาศ ณ วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2566