การจัดสรรพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในน่านน้ำอาเซียน | ณัชชา สุขะวัธนกุล

การจัดสรรพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในน่านน้ำอาเซียน | ณัชชา สุขะวัธนกุล

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันการแสวงหาประโยชน์ (Exploitation) และการสำรวจ (Exploration) ทรัพยากรทางทะเลของแต่ละรัฐเป็นไปอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ และเรือที่ถูกใช้ในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว

เมื่อพิจารณาถึงประเทศไทยของเราเองและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศมาเลเซีย ประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชานั้น มีอัตราการขยายตัวของความต้องการใช้ประโยชน์ทางทะเลที่สูงมากออกสู่ตลาดโลก

ในทางกลับกันสถานการณ์นี้สื่อถึงความต้องการหวงกันทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ทั้งทรัพยากรที่มีชีวิต (Marine Natural living Resources) และทรัพยากรที่ไม่มีชีวิต (Marine Natural non- living Resources) ได้แก่ พันธุ์ปลา น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทะเลอาเซียนมีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Sea Overlapping Area) ปรากฏอยู่ในหลากหลายพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) และไหล่ทวีป (Continental Shelf)

โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลซึ่งได้มีการตกลงแบ่งการใช้ประโยชน์อย่างลงตัวและเป็นไปโดยสันติวิธี

เช่น พื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นไปภายใต้ความตกลง “การใช้ประโยชน์ร่วมกัน (JDA.: Joint Development Area)” โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศมาเลเซียและประเทศเวียดนาม หรือพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนาม ยังมิได้มีการทำการเจรจาเพื่อปักปันเขตแดนหรือทำข้อตกลงเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ชัดเจนร่วมกัน

ในที่นี้จะขอกล่าวและวิเคราะห์ถึงพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา

พื้นที่ดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ในเขตทะเลตะวันออกของประเทศไทย คือบริเวณใกล้เคียงกับเกาะกูดของประเทศไทย โดยมีประเด็นข้อพิพาทอยู่ที่การจัดสรรพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลบริเวณเหนือและใต้แนวเส้นละติจูดที่ 11

ตลอดจนถึงประเด็นในอนาคตหากเกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐซึ่งต้องอาศัยกระบวนการระงับข้อพิพาททางทะเลระหว่างประเทศ (Principle of Dispute Settlement) แนวทางพิจารณาควรจะเป็นเช่นไร

ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลทั้งทรัพยากรที่มีชีวิต และทรัพยากรที่ไม่มีชีวิต ในพื้นที่นี้จะประกอบไปด้วย น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและพันธุ์ปลา

สืบเนื่องจากความต้องการนำทรัพยากรทางทะเลดังกล่าวมาใช้ประโยชน์โดยเร็วเนื่องจากเป็นทรัพยากรที่มีวันหมดอายุและกำลังจะหมดไป

ทรัพยากรทางทะเลในบริเวณนี้มิได้เอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเฉพาะต่อสองรัฐนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจศึกษาและทำความเข้าใจต่อสถานการณ์เดียวกัน ที่เกิดขึ้นกับรัฐอื่นในภูมิภาคอาเซียนของเรา

บนพื้นฐานความเหมือนและความแตกต่างในบริบททางสภาพภูมิศาสตร์ สังคม การเมืองและกฎหมาย

ปัญหาเรื้อรังที่ยังคงเกิดขึ้นโดยกฎหมายระหว่างประเทศอันเกี่ยวข้องกับการระงับข้อพิพาททางทะเล เช่น Annex 15 of United Nation Convention on the Law of the Sea 1982 เพียงลำพังอาจ (Legal Means) ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและระงับข้อพิพาทได้อย่างแท้จริง

ในสถานการณ์ทางทะเลและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ควรต้องมีการพิจารณาปัจจัยทางการเมือง (Political Means) และหลักการเจรจาทางการทูต (Diplomatic Means) เข้ามาประกอบด้วยหรือไม่จึงจะบังเกิดเป็นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิผลและยุติธรรมที่สุดกับทั้งสองรัฐ

ข้อพิพาทในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลหากไม่ได้รับการแก้ไขและระงับข้อพิพาทมิให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบต่อคู่พิพาททั้งสองฝ่ายจะก่อปัญหาและความยุ่งยากทางกฎหมาย ทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอันมาก

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจัดการกับพื้นที่ทางทะเลซึ่งไม่ว่ารัฐใดก็ไม่สามารถขยับตัวทำอะไรได้เลย เนื่องจากแต่ละรัฐไม่สามารถขยับเส้นฐาน (Baseline) และเส้นกำหนดเขตแดน (Equidistance Line) ซึ่งเป็นมาตรฐานและวิธีการปักปันเขตแดนทางทะเล (Maritime Delimitation) ได้เองตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนมาก

แม้ว่ารัฐคู่พิพาทจะเลือกใช้วิธีการส่งเรื่องขึ้นสู่ศาลทะเลโลก (Judicial Means toward the International Tribunal of the Law of the Sea) ยังคงเป็นประเด็นที่น่าหนักใจสำหรับผู้ที่ต้องมีส่วนร่วมและผู้ที่มีหน้าที่ต้องตัดสินคดีหรือข้อพิพาทดังกล่าว

และหากปล่อยไว้เช่นนี้ย่อมกระทบถึงการเข้าถึงการใช้ประโยชน์ทางทะเลในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลดังกล่าวในเชิงของทรัพยากรทางทะเล เนื่องจากพื้นน้ำทั่วโลกถูกครอบครองและเรียกร้องสิทธิโดยแต่ละรัฐในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่มีอยู่หรือเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา

ในส่วนของพิพาทระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชาในเรื่องนี้แท้จริงแล้วต้องพิจารณาไปถึงรากฐานทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวลีที่กล่าวว่า “ในบางครั้งการบังคับใช้กฎหมายจะเกิดประสิทธิผลก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศด้วย”

อีกทั้งประเทศไทยและประเทศกัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน แสวงหาผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกันมาช้านาน ทั้งนี้ควรหันมาพิจารณาอันดับแรกว่ากฎเกณฑ์ในภูมิภาคมีหรือไม่

การเจรจาไกล่เกลี่ย หรือวิธีระงับข้อพิพาททางเลือกโดยสันติ (Peaceful Means of Dispute Settlement) มีหรือไม่ตามมาตรา 33 ของ United Nation Charter มีอยู่และเหมาะสมจะนำมาใช้หรือไม่

หากพิจารณาข้อพิพาทในประเด็นนี้ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาที่มีมายาวนานกว่า 70  ปีอีกทั้งมีข้อตกลง (MOU: Memorandum of Understanding 2001) แล้วนั้น

ข้อตกลงในส่วนที่ให้มีการปักปันเขตแดนและการพิจารณาทำข้อตกลงการใช้ประโยชน์ร่วมกัน จะเป็นทางออกสุดท้ายที่เหมาะสมและได้รับการเห็นพ้องจากรัฐบาลและคนในชาติหรือไม่

อาจจะต้องนำหลักกฎหมายทะเลในประเด็นที่เกี่ยวข้องตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการระงับข้อพิพาททางเขตแดน หรือกระบวนการยุติธรรมทางเลือกอย่างการใช้คนกลางหรืออนุญาโตตุลาการจะมีประสิทธิผลมากกว่าก็เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป

ทั้งนี้เพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของคนในชาติไม่ต่างจากข้อพิพาทเขาพระวิหารในทางบกซึ่งมีอิทธิพลต่อความรู้สึกร่วมกันของผู้คนในรัฐพิพาทไม่น้อย.