ลุยแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย–ทำกินในพื้นที่ป่าสงวนฯ 'แม่แจ่ม' ได้เป็นอำเภอแรก

ลุยแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย–ทำกินในพื้นที่ป่าสงวนฯ 'แม่แจ่ม' ได้เป็นอำเภอแรก

ทส. สร้างสุขให้ประชาชนใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ สามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย–ทำกินในพื้นที่ป่าสงวนฯ ได้เป็นอำเภอแรกในประเทศไทย

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมป่าไม้ สร้างสุขให้คนแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ สามารถอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามมติ ครม. 26 พ.ย. 61 

วันที่ 24 เม.ย. 66 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมป่าไม้ ได้จัดพิธีมอบหนังสืออนุญาตตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และการอนุมัติโครงการตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เพื่อแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1,2 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ให้แก่ราษฎรในเขตพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งช่วยทำให้สามารถอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นประธานมอบหนังสือ และนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ร่วมมอบ ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การมอบหนังสืออนุญาต และการอนุมัติโครงการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1,2 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 อำเภอแม่แจ่ม ในครั้งนี้ จะช่วยทำให้ราษฎรได้อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอย่างถูกต้องเหมาะสม มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ มีการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทำให้ราษฎรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมกันกับป่าได้อย่างยั่งยืน เกิดความร่วมมือระหว่างราษฎรและเจ้าหน้าที่ในการฟื้นฟูสภาพป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว บำรุงรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารของประเทศ ป้องกันรักษาพื้นที่ป่าให้คงอยู่ ตลอดจนฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนสืบไป

ลุยแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย–ทำกินในพื้นที่ป่าสงวนฯ \'แม่แจ่ม\' ได้เป็นอำเภอแรก

ด้าน นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ และจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีราษฎรอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ท้องที่อำเภอแม่แจ่ม โดยดำเนินการตามกรอบมาตรการมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ประกอบด้วย 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มาก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 ในลุ่มน้ำชั้นที่ 3,4,5  เนื้อที่รวมประมาณ 24,196 ไร่ กรมป่าไม้ได้กำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายและได้อนุญาตตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ให้จังหวัดเชียงใหม่นำพื้นที่ไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) แล้ว

ลุยแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย–ทำกินในพื้นที่ป่าสงวนฯ \'แม่แจ่ม\' ได้เป็นอำเภอแรก

กลุ่มที่ 2 ราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หลังมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 และต้องปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557  ในลุ่มน้ำชั้นที่ 3,4,5 เนื้อที่รวมประมาณ 12,590 ไร่ จำนวน 46 หมู่บ้าน ซึ่งวันนี้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้มอบหนังสืออนุญาตตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 จำนวน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านกองแขก และหมู่บ้านผาผึ้ง ท้องที่ตำบลกองแขก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่รวม 775-3-38 ไร่ ให้องค์การบริหารส่วนตำบลกองแขกนำพื้นที่ไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินแบบแปลงรวม มีเงื่อนไขให้ปลูกป่าเศรษฐกิจ 50% ของพื้นที่

สำหรับพื้นที่ที่เหลืออีก 44 หมู่บ้าน จะประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยื่นขออนุญาตต่อไป ราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ซึ่งแบ่งเป็น

กลุ่มที่ 3 กรณีอยู่อาศัยทำกินมาก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 41

กลุ่มที่ 4 กรณีที่อยู่อาศัยทำกินหลังมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 และต้องปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ทั้ง 2 กลุ่ม เนื้อที่รวมประมาณ 356,814 ไร่ ในวันนี้กรมป่าไม้ได้อนุมัติโครงการตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) เข้าไปดำเนินการจัดระเบียบการใช้ที่ดินตามมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริ และรับรองการอยู่อาศัยทำกินในลักษณะแปลงรวมให้แก่ราษฎรได้อยู่อาศัยทำกินโดยถูกต้องต่อไป อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

ด้านนายเดโช ไชยทัพ  ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 16 ปี  ตั้งแต่ ปี 2550 ถึงปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาที่แม่แจ่ม เป็นการขับเคลื่อนที่เป็นระดับกลุ่มบุคคล เป็นการแก้ไขปัญหาแบบต่างคนต่างทำ ส่งผลให้กระบวนการแก้ไขปัญหาไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จ และเมื่อทั้งหน่วยงานภาครัฐ โดยกระทรวง ทส. รวมถึงภาคประชาชนในพื้นที่ร่วมกันปรับประยุกต์การใช้กฎหมาย เกิดกระบวนการแก้ไขกฎหมายร่วมกัน มีความเข้าใจกัน  จึงทำให้กระดุมเม็ดแรกของอำเภอแม่แจ่ม ประสบความสำเร็จ และกระดุมเม็ดต่อไป จะเป็นโจทย์ท้าทายความร่วมมือของทุกภาคส่วนต่อไป