ยังจับไม่ได้! แฮกเกอร์ 9near ปมข้อมูลหลุด 55 ล้านชื่อ - ไม่ยันหลุดจากหมอพร้อม

ยังจับไม่ได้! แฮกเกอร์ 9near ปมข้อมูลหลุด 55 ล้านชื่อ - ไม่ยันหลุดจากหมอพร้อม

ยังจับไม่ได้! แฮกเกอร์ '9near' ปมข้อมูลหลุด 55 ล้านชื่อ 'รมว.ดีอีเอส' ชี้เป็นทหารยศจ่าสิบโท ไม่ยันหลุดจากแอปฯ 'หมอพร้อม' ประสานต้นสังกัดส่งตัวดำเนินคดี

วันนี้ (7 เมษายน 2566) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งโต๊ะแถลงความคืบหน้ากรณี แฮกเกอร์ '9near' อ้างว่าแฮกข้อมูลคนไทย 55 ล้านราย ต่อมาได้มีการออกหมายจับเพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดี และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นทหาร ยศ 'จ่าสิบโท' ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

 

 

โดย นายชัยวุฒิ รมว.ดีอีเอส เปิดเผยว่า ขณะนี้รู้ตัวคนร้าย หรือ แฮกเกอร์ 9near และล็อกเป้าได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถจับกุมตัวได้ อยู่ระหว่างการหลบหนี ซึ่งในขณะนี้ต้นสังกัดของทหารยศ 'จ่าสิบโท' นายดังกล่าวได้ทราบเรื่องแล้ว แต่การจับกุมทหารต้องมีกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งหากเป็นประชาชนทั่วไปนั้นสามารถจับกุมได้เลย สำหรับมูลเหตุการก่อเหตุนั้นได้ตั้งเอาไว้หลายประเด็น ทั้งการเอาข้อมูลไปขาย การสแกมข้อมูลบางส่วนเพื่อหลอกขายข้อมูลให้กับคนร้ายด้วยกันเอง หรือการดิสเครดิตหน่วยงานและความคึกคะนอง

 

รมว.ดีอีเอส เผยต่ออีกว่า ส่วนการขายข้อมูลให้ใครบ้างนั้นต้องรอการตรวจสอบ รวมไปถึงข้อมูลหลุดจากหน่วยงานไหนก็ต้องรอการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้ขอยืนยันว่าหากคนร้ายยังอยู่ในไทยจะสามารถจับกุมได้แน่นอน ต้องขอโทษพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถดึงข้อมูลที่รั่วหลุดออกไปแล้วกลับมาได้ พร้อมกับฝากเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังในกรณีที่มีเบอร์แปลกโทรเข้ามาหา อย่าหลงเชื่อ และฝากเตือนผู้ที่นำข้อมูลของบุคคลของผู้อื่นไปใช้ถือว่ามีความผิด

 

'เขาเป็นทหาร ใครจะไปจับทหารก็ต้องขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชา หรือเป็นกระบวนการระหว่างตำรวจ ทหาร ที่ต้องพูดคุยกัน ถ้าเป็นประชาชนธรรมดาเราก็จับกุมได้เลย ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าข้อมูลหลุดมาจากแอปพลิเคชัน 'หมอพร้อม' นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ก็มีในหลายหน่วยงาน'

 

 

ด้าน พล.ต.ท.วรวัฒน์ ผบช.สอท. กล่าวว่า ได้รับเรื่องข้อมูลรั่วตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา จึงสืบสวนจนรู้ตัวคนร้าย ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงขอศาลออกหมายจับตามความผิด 2 ข้อหา คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ PDPA ซึ่งตำรวจพยายามติดตามจับกุมคนร้าย แต่คนร้ายปิดโทรศัพท์หนีไป ก่อนมาตรวจสอบพบภายหลังว่าบุคคลที่ถูกออกหมายจับนั้นเป็นทหารยศจ่าสิบโท ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดที่เกี่ยวกับยานพาหนะ ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแต่อย่างใด

 

ผบช.สอท. กล่าวต่อว่า ตรวจสอบประวัติพบว่าคนร้ายรายนี้เป็นบุคคลที่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์สูง จึงเชื่อได้ว่าการกระทำเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นสังกัด เนื่องจากดูจากเจตนาคนร้ายแล้วพบว่าจุดประสงค์เปลี่ยนไปตลอดเวลา เบื้องต้นได้ประสานไปที่ต้นสังกัดเพื่อตรวจสอบว่าทหารนายนี้ยังรับราชการอยู่หรือไม่ ส่วนภรรยาของคนร้ายที่มีรายงานว่าเป็นพยาบาลจะมีความเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่นั้น ขณะนี้ภรรยาก็หลบหนีเช่นเดียวกัน สำหรับข้อมูลที่คนร้ายนำไปเปิดเผยส่วนใหญ่เป็นข้อมูลทั่วไป เช่น ชื่อ, ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีการรั่วไหลของข้อมูลจริง แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะรั่วถึง 55 ล้านรายชื่อหรือไม่

 

ส่วนกรณีที่คนร้ายรายนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับบิ๊กของประเทศหรือไม่นั้น ผบช.สอท.ไม่ระบุว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ โดยกล่าวว่า 'เป็นการโยงข้อมูลจากคำพูดสุดท้ายของผู้ต้องหาว่า จะแฉว่าใครเป็นสปอนเซอร์ที่เป็นนักการเมือง'

 

อย่างไรก็ตาม นายชัยวุฒิ รมว.ดีอีเอส ได้กล่าวในตอนท้ายถึงคำถามที่ว่าได้รับแจ้งตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม แล้วทำไมไม่มีการแจ้งเตือนประชาชน ว่า ตามกระบวนการต้องมีการสืบสวนสอบสวนก่อน ถ้ารีบแจ้งเตือนบางทีอาจทำให้คนตื่นตระหนก เพราะว่าไม่รู้ว่าเป็นคำอ้างหรือเป็นสแกมไปหลอกลวง แต่เมื่อมีการพัฒนาของกระบวนการมาเรื่อยๆ จึงมีการพยายามสืบสวนดำเนินคดีมาจนถึงวันนี้ ยืนยันว่าทำให้ดีที่สุดและให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่ามีกฎหมายและหน่วยงานรองรับ เพื่อคุ้มครองประชนชนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ หลังจากนี้หากประชาชนถูกนำข้อมูลไปใช้ก็สามารถแจ้งความหรือฟ้องร้องต่อศาลได้