แก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ทันเทคโนโลยี | สกล หาญสุทธิวารินทร์

แก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ทันเทคโนโลยี | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ประเทศไทย มีกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์นานมาแล้ว มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เรียกชื่อต่างกันออกมาใช้บังคับหลายฉบับ ต่อมาเมื่อปี 2521 ได้แก้ไขปรับปรุงและตราเป็นพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 เพื่อให้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น 

แต่เมื่อใช้ไประยะหนึ่งก็ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาทางทางเทคโนโลยี และไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ จึงมีการตรา พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ออกใช้บังคับ

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558

ในปี 2558 มีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 โดยพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 สาระสำคัญที่มีการแก้ไขคือ

ได้เพิ่มบทบัญญัติที่เกี่ยวกับงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ทำหรือได้มาโดยระบบคอมพิวเตอร์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในระบบคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญคือมาตรา 32/3 ถ้าเจ้าของสิทธิมีหลักฐานเชื่อว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ เจ้าของลิขสิทธิ์อาจยื่นคำร้องต่อศาลให้ผู้ให้บริการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นได้

เพิ่มเติมหมวด 2/1 ข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี และกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี และได้กำหนดโทษทางอาญาความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีไว้ ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท-1 หนึ่งแสนบาท แต่ถ้าเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุก 3 เดือนถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5 หมื่นบาท-4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การแก้ไขครั้งนี้ เกิดฐานความผิดขึ้นมาอีกหนึ่งฐาน คือความผิดละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561

ต่อมาในปี 2558 มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 โดย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 เพื่ออุดช่องว่างในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ที่กำหนดให้การละเมิดลิขสิทธิ์ ทำซ้ำด้วยการบันทึกภาพและเสียงในโรงภาพยนตร์เป็นการกระทำความผิดมีอัตราโทษเท่ากับการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า

แก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ทันเทคโนโลยี | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ปี 2561 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2538 โดย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 เพื่อให้โอกาสแก่คนพิการจากการบกพร่องทางการเห็นและการได้ยินได้รับโอกาสเท่าเทียมกับบุคคลอื่นในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์

การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ล่าสุด

ปัจจุบัน การพัฒนาทางเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปมาก จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และปรับปรุงบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี

เพื่อรองรับการที่ประเทศไทยจะสมัครเข้าเป็น ภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก โดยได้ตราพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2565 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.2565 เป็นต้นไป

สาระสำคัญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม

คำนิยาม

กำหนดคำนิยาม “ผู้ให้บริการ” และ “ผู้ใช้บริการ” เพื่อให้มีความชัดเจนในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ ที่ดำเนินการผ่านระบบระบบคอมพิวเตอร์ เพราะมีผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการเกี่ยวข้องด้วย

แก้ไขปรับปรุงคำนิยาม “มาตรการทางเทคโนโลยี” หมายความว่า เทคโนโลยีที่ใช้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเทคโนโลยีใช้ควบคุมการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิ่งบันทึกการแสดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

แก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ทันเทคโนโลยี | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ยกเลิกคำนิยาม “การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี” แต่ไปบัญญัติเป็นลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีตามมาตรา 53/4 ที่แก้ไขปรับปรุงใหม่

ยกเลิกมาตรา 32/3 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 เพิ่มเติม "ส่วนที่ 7" ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการมาตรา 43/1 ถึงมาตรา 43/8 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และแก้ไขปัญหาทางปฏิบัติในการใช้บังคับกฎหมาย

มาตราที่สำคัญคือ มาตรา 43/6 ที่บัญญัติขึ้นใช้แทนมาตรา 32/3 ที่ยกเลิกไป ดังนี้

“มาตรา 43/6 ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์บนระบบ หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการตามมาตรา 43/4 หรือมาตรา 43/5 เจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งไปยังผู้ให้บริการให้นำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อ้างว่าได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ หรือแหล่งอ้างอิงหรือจุดเชื่อมต่อของข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบหรือเครือข่ายของผู้ให้บริการ หรือระงับการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือแหล่งอ้างอิงหรือจุดเชื่อมต่อของข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว”

มาตรการให้นำงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 32/3 ที่ยกเลิกไปนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องร้องต่อศาล แต่ตามมาตรา 43/4 เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถแจ้งไปยังผู้ให้บริการได้เลย

แก้ไขปรับบทบัญญัติกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี โดยยกเลิกมาตรา 53/4 เดิมและใช้ข้อความใหม่คือ

“ มาตรา 53/4 การกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลทำให้มาตรการทางเทคโนโลยีที่ใช้การควบคุมการเข้าถึงไม่เกิดผล ให้ถือว่าเป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี”

แก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ทันเทคโนโลยี | สกล หาญสุทธิวารินทร์

เพิ่มมาตรา 53/6 มาตรา 53/7 มาตรา53/8 ของหมวด 2/1 

ที่สำคัญคือบทบัญญัติของมาตรา 53/6 ที่กำหนดการกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีขึ้นใหม่ คือ

“มาตรา 53/6 ผู้ใดให้บริการ ผลิต ขาย หรือแจกจ่าย ซึ่งบริการ ผลิตภัณฑ์ หรืออุปกรณ์โดยรู้ หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าบริการ ผลิตภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อทำให้มาตรการทางเทคโนโลยีไม่เกิดผล หรือโดยส่งเสริมการขายว่า บริการ ผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์นั้นสามารถทำให้มาตรการทางเทคโนโลยีไม่เกิดผล ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี  เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผลิตภัณฑ์ หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย”

อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ภาพถ่าย

แก้ไขปรับปรุงการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ภาพถ่ายให้มีอายุการคุ้มครองให้ยาวขึ้น จากบทบัญญัติเดิม โดยแก้ไขมาตรา 21 ด้วยการตัดคำว่า ภาพถ่ายออกจากบทบัญญัติของมาตรา 21 เป็นผลให้อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ภาพถ่ายไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 21 ที่มีอายุการคุ้มครอง 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น 

หรือถ้ามีการโฆษณางานนั้นในระยะเวลาดังกล่าว ลิขสิทธิ์นั้นมีอายุ 50 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก มีผลทำให้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ ภาพถ่ายตกอยู่ในความคุ้มครองตามมาตรา 19 ที่มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่อีกต่อไปเป็นเวลา 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย

การกระทำความผิดตามมาตรา 53/6 อาจกล่าวอย่างง่ายๆ คือการจำหน่ายจ่ายแจกกล่องหรือเครื่องมืออุปกรณ์ รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือให้บริการ ที่เจาะรหัสเข้าไปชมเข้าไปฟังงานอันมีลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี.