คำพิพากษาศาลฎีกาคดีตอบโต้การทุ่มตลาด ที่น่าศึกษา

คำพิพากษาศาลฎีกาคดีตอบโต้การทุ่มตลาด ที่น่าศึกษา

ประเทศไทย ได้ตราพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ออกใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติป้องกันการทุ่มตลาด พ.ศ.2507

คณะผู้ยกร่าง นำความตกลงที่เกี่ยวกับการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนภายใต้องค์การการค้าโลก และกฎหมายของสหภาพยุโรปเป็นแนวทาง

ต่อมาในปี 2562 ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยเพิ่มหมวด 10/1 การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน เพื่อให้สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการกับการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน

การดำเนินการตอบโต้การทุ่มตลาดและอุดหนุน และการตอบโต้การหลบเลี่ยงการทุ่มตลาดของกรมการค้าต่างประเทศและคณะกรรมการฯ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายใน ผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะประกอบกัน

ตามที่บัญญัติในมาตรา 7 ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักของประโยชน์ทั้งสามด้านดังกล่าวโดยรอบคอบให้เกิดดุลยภาพ

คดีพิพาทเกี่ยวกับการตอบโต้การทุ่มตลาดที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกามีไม่กี่คดี

คดีที่น่าศึกษาคือคดีที่บริษัท เอพี โกลบอล ไซท์ จำกัด เป็นโจทก์ กรมการค้าต่างประเทศ เป็นจำเลย แต่มีประเด็นพิพาทสู่การพิจารณาของศาลฎีกาสองคดี 

คดีแรก บริษัทเอพี โกลบอลไซท์ จำกัด โจทก์ ฟ้องกรมการค้าต่างประเทศให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชั้นที่สุดให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดในการนำเข้าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70 16.900.001 จากอินโดนีเซียเข้ามาในราชอาณาจักร

กรมการค้าต่างประเทศ จำเลย ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เนื่องจากอธิบดีกรมจำเลยเป็นเพียงเลขานุการและกรรมการคนหนึ่งของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน โจทก์ต้องฟ้องคณะกรรมการทั้งคณะเป็นจำเลย

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 2038/2550 วินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของกรมจำเลยแล้ว อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้แทนกรมจำเลย เป็นกรรมการที่มีบทบาทสำคัญในเนื้องานของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน

การฟ้องกรมจำเลยก็เท่ากับการฟ้องอธิบดีกรมจำเลย ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการฯ จึงถือว่าเป็นการฟ้องคณะกรรมการฯ แล้ว ไม่จำเป็นต้องฟ้องกรรมการทุกคน

พิพากษายกคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญา และให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คดีที่สอง เมื่อ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิจารณาใหม่ ได้พิพากษาเพิกถอนกระบวนการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส

ตามคำขอของบริษัท บางกอกคริสตัล จำกัด ตั้งแต่ขั้นตอนตามประกาศของกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง เปิดการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศอินโดนีเซีย ปี 2547 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2547

จนถึงขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน เรื่อง การตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศอินโดนีเซีย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548

ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 และประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องผลการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ที่มีแหล่งกำเนิดจากอินโดนีเซีย (ฉบับ 2) พ.ศ.2548 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2548

ให้จำเลยดำเนินการไต่สวนการทุ่มตลาดตามคำขอของบริษัท บางกอกคริสตัล จำกัด ใหม่ โดยใช้ข้อมูลและข้อเท็จจริงในช่วงเวลาเดิมให้สอดคล้องเป็นไปตามกฎหมายและคำพิพากษานี้

โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาและจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาได้พิพากษาคดีนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15649-15650/2558 ระบุข้อเท็จจริงขั้นตอนการพิจารณาและข้อกฎหมายค่อนข้างละเอียด รวมทั้งยกบทบัญญัติของความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลกอ้างอิงเปรียบเทียบกับบทบัญญัติของกฎหมายไทยด้วย

แม้เรียกชื่อความตกลงที่เป็นภาษาไทยไม่ตรงกับที่มีการแปลไว้เป็นทางการ คำพิพากษานี้ชี้ให้เห็นถึงขั้นตอนกระบวนการในการดำเนินการค่อนข้างละเอียด เป็นคำพิพากษาที่น่าศึกษา โดยศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นย่อยที่สำคัญ 4 ประเด็น โดยสรุปคือ

ประเด็นแรก จำเลยปกปิดข้อมูลข่าวสารที่ใช้เป็นพื้นฐานในการไต่สวนทุ่มตลาด ทำให้โจทก์ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลข่าวสารนั้นและป้องกันผลประโยชน์ของโจทก์ได้หรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อมูลข่าวสารในแบบคำขอให้ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดในกรณีนี้ถือเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทที่บริษัท บ ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารนั้นขอให้ปกปิด

การเปิดเผยข้อมูลต้องได้รับความเห็นชอบจากบริษัท บ ก่อน ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติต่อข้อมูลข่าวสารตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้แล้ว

สำหรับเหตุผลอันสมควร (ในการขอให้ปกปิด) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้

ดยศาลฎีกานำความตกลงว่าด้วยการปฏิบัติตามข้อ 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีและการค้า (แกตต์ 1994) มาประกอบการพิจารณาด้วยว่ามีเรื่องเหตุผลอันสมควรบัญญัติไว้

ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดเป็นกระบวนการที่เป็นธรรม และเกิดความสมดุลระหว่างการรักษาความลับของข้อมูลกับสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ

เจ้าหน้าที่จำเลยสมควรตรวจสอบด้วยว่า เหตุผลปกปิดที่ผู้ให้ข้อมูลปกปิดรับฟังได้หรือไม่ ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าข้อมูลข่าวสารที่ขอให้ปกปิดมีข้อมูลภายในเกี่ยวกับการดำเนินงานภายในของบริษัท บ ด้วย จึงเป็นเหตุผลที่สมควรให้ปกปิด

  ประเด็นที่ 2 คำสั่งและคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่จำเลยรวมถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อคณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยเบื้องต้นหรือคำวินิจฉัยชั้นที่สุด และจำเลยออกประกาศแจ้งผลการวินิจฉัย มีรายละเอียดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ซึ่งเป็นรูปแบบคำสั่งทางปกครองที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ประกาศดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย

 ประเด็นที่ 3 สินค้าบล็อกแก้วใสที่ถูกพิจารณาคือขนาด190 x190x80 มิลลิเมตร  การตอบโต้การทุ่มตลาด จำกัดเฉพาะบล็อกแก้วใสขนาดดังกล่าวหรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บล็อกแก้วใสทุกขนาดเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน การกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด จึงไม่ต้องจำกัดเฉพาะสินค้าบล็อกแก้วใสขนาด 190 x190 x80 มิลลิเมตร และขนาด190x190x100 มิลลิเมตรเท่านั้น

ประเด็นที่ 4 จำเลยดำเนินการหาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดเป็นไปโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 หรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว วินิจฉัยว่าการพิจารณาหาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดเป็นไปโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามกฎหมาย

 ผลคดี ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง