ครม.ไฟเขียวต่ออายุยกเว้น 'ภาษีเงินได้' บริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ครม.ไฟเขียวต่ออายุยกเว้น 'ภาษีเงินได้' บริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ครม.ไฟเขียวขยายเวลายกเว้น "ภาษีเงินได้" สำหรับบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) 4 กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม 3 ปีภาษี 66-68

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มีนาคม2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการ บริจาคเงิน ให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม) ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ เพื่อขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (ระยะที่ 3) พ.ศ. 2566-2568 (รวม 3 ปีภาษี) 

ในปีงบประมาณ 2564-2565 กระทรวงการคลังได้มีมาตรการภาษีโดยเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้หักลดหย่อน หรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือรายจ่ายที่บริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร

สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน ได้แก่

  1. กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา
  2. กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข
  3. กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  4. กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ซึ่งมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีผู้บริจาคเงินให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน จำนวน 3,803 ราย จำนวนเงินบริจาครวมประมาณ 8.6 ล้านบาท

ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. สิทธิประโยชน์ คือ ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน 

2. ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

- กรณีบุคคลธรรมดา ให้ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมคำนวณกับเงินได้ที่กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของเงินที่ได้จ่ายตามกรณีที่กำหนดไว้แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนนั้น

- กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริจาค แต่เมื่อรวมคำนวณกับรายจ่ายที่กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจานวนสองเท่าของรายจ่ายแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา

“การพิจารณาอนุมัติขยายระยะเวลานี้ เพื่อสนับสนุนการระดมทุนจากภาคเอกชนและผลักดันการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้สามารถยกระดับขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันและด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์” น.ส.ทิพานัน กล่าว