กำเนิดลอตเตอรี่ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว 

กำเนิดลอตเตอรี่ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว 

ในอดีตนั้น  คำว่าลอต (lot) ซึ่งเป็นคำต้นของลอตเตอรี่หมายถึงวัตถุขนาดเล็ก  เช่น ก้อนหิน  กระดูกสัตว์  เป็นต้น  ซึ่งมักใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับเสี่ยงทาย

เพราะเชื่อกันว่า  เมื่อผู้เสี่ยงทายไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ที่ออกมาได้  ผลที่ออกมาต้องเกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจ  ดังนั้น  เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่สามารถตัดสินใจได้  การเสี่ยงทายโดยใช้ลอตจึงเปรียบได้กับการขอคำชี้แนะจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้เสี่ยงทายนับถือ

    มีหลักฐานมากมายในแทบทุกมุมโลกที่แสดงให้เห็นถึงการเล่นพนันที่คล้ายกับลอตเตอรี่สมัยปัจจุบัน  ในพระคัมภีร์เก่ายังมีการพูดถึงการที่พระเจ้าแสดงความประสงค์ให้โมเสสใช้การเสี่ยงทาย

เพื่อแบ่งที่ดินให้กับชาวอิสราเอลว่าแต่ละครอบครัวจะได้ที่ดินที่ไหน  มากน้อยเพียงใด  แม้แต่กษัตริย์องค์แรกของชาวอิสราเอลก็ถูกคัดเลือกโดยการใช้ลอตเสี่ยงทายเช่นกัน

 อาณาจักรโรมันก็เคยใช้ประโยชน์จากการเสี่ยงทายแบบนี้ เพื่อสร้างความบันเทิงในงานเลี้ยงสังสรรค์ กษัตริย์โรมันหลายพระองค์ใช้ลอตในการแบ่งที่ดินระหว่างชนชั้นสูง  เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาว่าพระองค์ทรงตัดสินใจด้วยความลำเอียง  เลือกที่รักมักที่ชัง  

    เอเชียเองก็ไม่ใช่ย่อย  กำแพงเมืองจีนสิ่งมหัศจรรย์ระดับโลกที่จิ๋นซีฮ่องเต้สร้างขึ้นนั้น  ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างส่วนหนึ่งก็มาจากการขายลอตเตอรี่ให้กับประชาชน  

กำเนิดลอตเตอรี่ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว 

ลอตเตอรี่เวอร์ชั่นแดนมังกรได้กลายเป็นต้นแบบของการพนันที่เรียกว่า คีโน  ซึ่งมีวิธีในการออกเลขคล้ายกับการออกสลากกินแบ่งของบ้านเราในสมัยนี้  และมีให้เล่นกันตามคาสิโนใหญ่ ๆ  

    ประเทศแถบยุโรปก็ใช้แนวคิดการนี้เพื่อระดมเอาเงินมาใช้ในการลงทุนหรือบริการประเทศ ในปี ค.ศ. 1530  กษัตริย์ของฝรั่งเศสได้ออกลอตเตอรี่  เพื่อนำเงินที่ได้มาแก้ปัญหาเงินคงคลังที่กำลังร่อยหรอลงไปทุกวัน  

หลังจากนั้นไม่นาน  นักธุรกิจหัวใสเมืองน้ำหอมก็ออกลอตเตอรี่มาขายกันเป็นการใหญ่   ก่อนจะถูกประกาศให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายในปี ค.ศ. 1776  แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีการออกลอตเตอรี่บ้าง  แต่ก็ทำได้เฉพาะการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือสังคมและทำนุบำรุงศิลปะเท่านั้น

    อิตาลี ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของฝรั่งเศสมีการออกลอตเตอรี่ครั้งแรกที่เมืองฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1539  มีรางวัลตอบแทนเป็นเงินสดล่อใจจำนวนค่อนข้างสูง  ทำให้โรคคลั่งลอตเตอรี่ก็ได้แพร่ระบาดไปทุกหย่อมหญ้า

 สามร้อยกว่าปีต่อมา  รัฐบาลอิตาลีเองก็ตัดสินใจกระโดดเข้าไปร่วมสังฆกรรมทำการมอมเมาประชาชน  โดยการออกลอตเตอรี่ของรัฐชื่อว่า “ลอตโต”  และเจ้าลอตโตนี้ก็กลายเป็นนางกวักดึงเงินเข้าคลังได้อย่างต่อเนื่อง  

    ในยุคของพระราชินีอาลิธซาเบธที่ 1 ของอังกฤษ  รัฐบาลออกลอตเตอรี่จำนวน 40,000 ใบ  เพื่อหารายได้มาสร้างท่าเรือและสาธารณูปโภคที่จำเป็น  ลอตเตอรี่ของอังกฤษครั้งนั้นแตกต่างจากของประเทศอื่น เพราะทุกใบสามารถนำไปขึ้นรางวัลซึ่งมีมูลค่าเท่ากับราคาของลอตเตอรี่ที่กำหนดไว้  

ลอตเตอรี่เหล่านี้เริ่มวางขายในปี ค.ศ.1566 และจับรางวัล  ค.ศ.1569  ซึ่งก็เท่ากับว่ารัฐบาลของอังกฤษในสมัยนั้น  ใช้ลอตเตอรี่เป็นเครื่องมือในการกู้ยืมเงินจากประชาชน  ไม่ได้เป็นการมอมเมาตั้งหน้าตั้งตาเอาเงินเข้าคลังเหมือนที่เกิดขึ้นในบางประเทศที่อยู่ใกล้กัน   

    ในปี ค.ศ. 1612 ซึ่งเป็นยุคของกษัตริย์เจมส์ที่ 1 บริษัทเวอร์จิเนียแห่งลอนดอน (Virginia Company of London) ได้รับพระราชานุญาตให้ออกลอตเตอรี่เพื่อระดมทุนไปสร้างเมืองใหม่ที่สหรัฐชื่อว่า เจมส์ทาวน์  

กำเนิดลอตเตอรี่ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว 

อันที่จริงแล้ว ลอตเตอรี่มีบทบาทสำคัญในการตั้งรกรากของชาวยุโรปในสหรัฐ  เมืองใหม่จำนวนไม่น้อยที่ผุดขึ้นมาในยุคนั้นเกิดขึ้นได้จากการระดมทุนแบบนี้  

แม้แต่มหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง  มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน  มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  และมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย  ก็ได้เงินส่วนหนึ่งในการก่อตั้งมาจากกิจกรรมนี้

    หากมองกันตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว  ลอตเตอรี่ก็คือการเก็บภาษีแฝงแบบมุ่งเป้า  การหาเงินเข้ารัฐแบบนี้มีข้อดีตรงที่จะถูกต่อต้านน้อยกว่าการขึ้นภาษีแบบปูพรม  เพราะการซื้อลอตเตอรี่เปรียบได้กับการยอมจ่ายภาษีโดยสมัครใจ  ใครไม่ซื้อก็ไม่ต้องจ่าย

 นอกจากนี้แล้ว งานวิจัยทางสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยให้ข้อสรุปตรงกับว่า  คนที่ซื้อลอตเตอรี่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก  การควักเงินซื้อลอตเตอรี่จึงส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าและความกินดีอยู่ดีของครอบครัวได้เหมือนกัน

    แม้เราคงทำให้ลอตเตอรี่หมดไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยรัฐบาลก็ควรตระหนักว่า ประเทศไหนที่คนจำนวนมากต้องฝากอนาคตไว้กับการเสี่ยงทายเดือนละ 2 ครั้ง ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า...

  แม้จะพยายามทำงานหนักแค่ไหน หนทางทำมาหากินตามปกติไม่สามารถพาเขาไปถึงฝันได้ ถ้าเป็นแบบนี้มันต้องมีอะไรสักอย่างสองอย่างในประเทศที่ผิดปกติอย่างแน่นอน
คอลัมน์ หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
[email protected]