คปน. 7 จังหวัดอีสาน โวย สผ. ลักไก่ให้ผ่าน EIA โรงงานน้ำตาล

คณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมาล หรือ คปน. 7 จังหวัดภาคอีสาน ร่วมเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน เตรียมเคลื่อนไหวหลัง สผ. อนุมัติ EIA ก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ชี้มีชาวบ้านได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องยกเลิก

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่นคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมาล หรือ คปน. 7 จังหวัดภาคอีสาน ร่วมเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน นำโดยนายภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ และนายสิริศักดิ์ สะดวก ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ให้ยกเลิกอีไอเอ โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดชัยภูมิ ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ในการอนุมัติให้รายงานผ่านเพื่อนำประกอบการขออนุญาตการก่อสร้างโรงงาน

ในแถลงการณ์ ระบุว่า การดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 32 มกกะวัตต์ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บนพื้นที่ขนาดกว่า1,000 ไร่ อำเภอเกษตรสมบูรณ์-หนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ โดยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 ในวันที่ 18-20 มกราคม 2565 และครั้งที่ 2 วันที่ 16-18 มิถุนายน 2565 ในรูปแบบประชุมทางโกลผ่านระบบออนไลน์ เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ของโรงงานน้ำตาล และรายงานการประผลกระทบทางสุขภาพและโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อยื่นให้กับทางสำนักงานนโยบายแลแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการอนุมัติให้รายงานผ่านเพื่อนำประกอบการขออนุญาตการก่อสร้างโรงงานนั้น
 

ข้อเท็จจริงพบว่ามีหลายหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดกับเขตของโรงงาน และประชาชนในพื้นที่ถูกปกปิดข้อมูลข่าวสารของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างครบทุกด้าน และถูกกีดกันการมีส่วนร่วมในเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนทั้งสองครั้ง โดยจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่พบว่า กว่าร้อยละ 90 ประชาชนในพื้นที่ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลตั้งแต่เริ่มต้น พบว่าโรงงานจะก่อสร้างไม่ห่างจากหมู่บ้าน จึงเกรงว่าจะทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้ยกเลิกการอนุมัติรายงานEIA และ EHIA ของบริษัทโรงงานน้ำตาลในพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ 2. ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์

แต่ละจังหวัด เพื่อหาทางเลือกในการพัฒนาชุมชนที่เหมาะสมกับพื้นที่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และ3. ยกเลิกโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน

นายภาณุพงศ์ กล่าวว่า สำหรับภาคอีสานมีเป้าหมายในการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล 28 แห่ง ครอบคลุม 7 จังหวัด คือ ขอนแก่น ชัยภูมิ อุดรธานี ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์และศรีสะเกษ โดยทุกโรงงานน้ำตาลจะพ่วงด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล เมื่อรวมกับที่มีอยู่จะมีโรงงานน้ำตาลถึง 58 แห่ง ในอีสาน ทำให้เชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยคือประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมในการกำหนดโครงการการพัฒนาที่มาจากความต้องการของคนในชุมชน ที่ผ่านมาประชาชนยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้เปิดเผยข้อมูล และตั้งคณะกรรมการการศึกษาศักยภาพของพื้นที่ว่าเหมาะสมกับโครงการพัฒนาในรูปแบบใดที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่อย่างสูงสุด
 

ด้านนายสิริศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากอีไอเอผ่านแล้ว ทางบริษัทที่ยื่นเรื่องต้องไปขอใบประกอบโรงงาน ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลต้องไปขอที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ขั้นตอนการต่อสู้ของประชาชนคือการต่อสู้คัดค้าน ไปที่หน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งกลุ่มคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ภาคอีสาน จะเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการ โดยเบื้องต้นคาดว่าชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะเคลื่อนไหวเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อยืนหนังสือคัดค้าน และพูดคุยกับผู้รับผิดชอบ ในประเด็นที่มาของอีไอเอว่าเป็นการอนุมัติโดยไม่ชอบธรรม

“สำหรับพื้นที่ที่มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากโรงงานน้ำตาลแล้ว คือ ที่ จ.อำนาจเจริญ และรัศมีใกล้เคียง 5 กิโลเมตร คือ จ.ยโสธรที่ได้รับผลกระทบด้วย หลังจากมีการดำเนินการมากว่า 4 ปี พบว่ามีปัญหาด้านมลพิษทางเสียง และการสัญจร ซึ่งบทเรียนในการได้รับความเดือดร้อนนี้ นำไปสู่การต่อสู้ของประชาชนที่ได้รับชัยชนะที่ จ.ศรีสะเกษ โดยโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลถอนหมุดออก จนทำให้ประชาชนมีแนวทางพัฒนาของตัวเอง”นายศิริศักดิ์ กล่าว