คันแรกของไทย ! รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่

คันแรกของไทย ! รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่

การรถไฟฯ ผนึกหน่วยงานรัฐ - เอกชน ทดสอบใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกของไทยในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ลากจูงขบวนรถขึ้นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ผ่านฉลุย เตรียมใช้ลากจูงรถโดยสาร - รถสินค้า

วันนี้ (11 มกราคม 2566) เวลา 11.00 น. ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีทดสอบการใช้งาน รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนา รถไฟระบบ EV on Train ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธีฯ

นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ ร้อยละ 20 - 25 ภายในปี พ.ศ.2573 โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ รวมทั้ง "นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า" หรืออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริม

คันแรกของไทย ! รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคม จึงมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อลดมลพิษ และบรรเทาภาวะโลกร้อน โดยมอบหมายให้การรถไฟฯ ดำเนินการศึกษาการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ กรณีรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (EV on Train) ให้มีการใช้หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้ร่วมมือกับ สจล., และเอกชน จนเกิดรถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train นับเป็นข่าวดีที่ประเทศไทยสามารถประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่สำหรับรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเองได้

คันแรกของไทย ! รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่

อย่างไรก็ตาม การทดสอบในวันนี้ ได้ใช้รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยดี ซึ่งการรถไฟฯ จะพิจารณานำไปลากจูงรถโดยสาร และรถสินค้าในโอกาสต่อไป

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การทดสอบการใช้งาน รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train เพื่อใช้ในระบบสับเปลี่ยนขบวน (Shunting) เป็นไปตามนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยการนำเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) แทนที่ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของกระทรวงคมนาคม รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ การให้บริการ และสร้างรายได้ของการรถไฟฯ ถือเป็นรถจักรพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ คุณภาพสูง ที่ผลิตโดยคนไทย

คันแรกของไทย ! รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่

ในระยะแรกการรถไฟฯ จะนำรถจักรดังกล่าวมาใช้ลากเป็นบริการรถสับเปลี่ยน (Shunting) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษในอาคารสถานีชั้นที่ 2 จากขบวนรถโดยสารทางไกล ที่ยังเป็นรถไฟดีเซล ซึ่งจากผลการทดสอบ ของ รฟท. สามารถลากขบวนรถจากย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปที่

สถานีที่ชั้น 2 ได้จำนวน 12 เที่ยว ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ระยะเวลาการชาร์จจนแบตเตอรี่เต็มประมาณ 1 ชั่วโมง

จากนั้นในระยะต่อไป จะทดลองวิ่งในระยะทางใกล้ เช่น ขบวนรถโดยสารชานเมือง ระยะทางประมาณ 30 – 50 กิโลเมตร และระยะทางที่ไกลมากขึ้น เช่น ขบวนรถข้ามจังหวัด ระยะทางประมาณ 100 - 200 กิโลเมตร และขบวนรถขนส่งสินค้า จาก ICD ลาดกระบัง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น

ขณะนี้ จุดชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า ดำเนินการติดตั้งที่บริเวณย่านบางซื่อ และในอนาคตมีแผนจะติดตั้งจุดชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่สถานีอื่นๆ เพิ่ม เพื่อชาร์จไฟตามแนวเส้นทางรถไฟต่อไป รองรับการใช้หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่จะพ่วงไปกับขบวนรถโดยสาร อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ได้ทำการทดสอบ

ลากจูงขบวนรถในระยะใกล้ เส้นทาง วิหารแดง - องครักษ์ (ไป-กลับ) ระยะทาง 100 กิโลเมตร มาแล้ว นอกจากนี้ยังได้ทดสอบวิ่งรถจักร Battery ตัวเปล่าคันเดียว รวมทั้งการลากขบวนรถโดยสารขึ้น และลงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยใช้ความเร็วตลอดการทดสอบเฉลี่ย 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี

สำหรับ จุดเด่นของรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ดังกล่าว ได้ถูกออกแบบ และผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และในอนาคตหากจะใช้งานด้วยนวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra Fast Charge ในเวลา 1 ชั่วโมง ในระยะแรก และ Battery Swapping Station เพื่อการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเวลาไม่เกิน 10 นาที เพื่อลดเวลาการรอชาร์จ และนำมาขยายผลใช้งานในระบบขนส่งได้จริง ถือเป็นก้าวแรกของการรถไฟฯ ในการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการทดสอบ

รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทยที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม และเทคโนโลยีของคนไทยที่ทัดเทียมกับนานาชาติได้อย่างก้าวกระโดด เป็นเทคโนโลยี Zero emission ไม่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลด carbon footprint สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Asian Logistics Hub และตอบสนองนโยบาย Thai First ของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการผลิต ทดสอบ ประกอบยานยนต์ โดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตได้ในประเทศ

ทั้งนี้ การรถไฟฯ มั่นใจว่ารถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ดังกล่าว เป็นก้าวสำคัญที่จะพลิกโฉมการให้บริการรถไฟไทย ช่วยยกระดับการเดินทาง และการขนส่งทางราง ให้เป็นรูปแบบการคมนาคมหลักของประเทศ เป็นระบบรางไร้มลพิษ ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนขนส่งไทย ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนทางด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนชาวไทย จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะได้รับการให้บริการด้วยรถไฟฟ้าที่มีความสั่นสะเทือนน้อยลง มีความสะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เปิดโลกอนาคตของรถไฟยุคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์