“เพศ” ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

“เพศ” ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

“หลักความเสมอภาค (Equality)” ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นับว่าเป็นหลักกฎหมายสำคัญที่ถูกนำมาใช้เพื่อคุ้มครองความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเป็นที่มาของการตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558

โดยการคุ้มครองความเสมอภาคระหว่างเพศมีรากฐานมาจากหลักการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่ง “เพศ” ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอันหมายถึง “เพศสรีระ” ซึ่งจำแนกเป็นเพศหญิงและเพศชาย 
    
ต่อมาคำว่าเพศได้ถูกขยายขอบเขตให้มีความหมายครอบคลุมถึง “ความหลากหลายทางเพศ” เป็นครั้งแรกโดยผ่านทางการตีความคำว่า “เพศ” ในบทบัญญัติมาตรา 30 วรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550

ดังปรากฎตามบันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศย่อมได้รับความคุ้มครองภายใต้หลักความเสมอภาคและมีความเท่าเทียมกับบุคคลอื่นทั่วไป 

อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกไป กรณีอาจเกิดคำถามขึ้นว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้ระบุถึงความหลากหลายทางเพศไว้ เช่นนี้การตีความคำว่า “เพศ” จะยังมีความหมายครอบคลุมถึงความหลากหลายทางเพศอีกหรือไม่

บทความนี้จึงมุ่งวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวผ่านพัฒนาการของการรับรองหลักความเสมอภาคระหว่างเพศภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ได้ถูกยกเลิกตามลำดับ ดังนี้ 

ภายหลังจากการทำรัฐประหารในช่วงปีพ.ศ. 2557 สภาปฏิรูปแห่งชาติได้มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผลของการยกร่างในครั้งนี้ ได้มีการเพิ่มคำว่า “เพศสภาพ” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในร่างของรัฐธรรมนูญ

โดยปรากฎในร่างรัฐธรรมนูญหมวด 2 ว่าด้วยประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ตอนที่ 2 สิทธิมนุษยชน มาตรา (1/2/2) 7 

โดยบัญญัติว่า “......การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ เพศสภาพ อายุ ฯลฯ จะกระทำมิได้” เหตุที่มีการบัญญัติคำว่า “เพศสภาพ” ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญก็เพื่อต้องการให้ความคุ้มครองความเท่าเทียมระหว่างเพศให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ยืนยันว่าหลักการดังกล่าวมีความหมายครอบคลุมถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลทุกคนโดยไม่เจาะจงเฉพาะเพศกำเนิดเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ในคราวที่มีการประชุมพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการเสนอให้ตัดข้อความคำว่า “เพศสภาพ” ออกไปจากบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ 

“เพศ” ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

เนื่องจากการกำหนดในเรื่องการเลือกปฏิบัติโดยไม่ธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างใน “เพศ” ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นั้นสามารถตีความในเชิงคุ้มครองสิทธิได้อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ส่งผลทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไปโดยผลของมติการประชุมดังกล่าว 

ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ได้ตัดข้อความเรื่องเพศสภาพออกไปคงเหลือไว้แต่การห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติมาตรา 27 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า 

“การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้” 

ทำให้เกิดปัญหาว่าการคุ้มครองความเท่าเทียมระหว่างเพศตามบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายครอบคลุมถึงความหลากหลายทางเพศด้วยหรือไม่ เนื่องจากมิได้มีการบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไว้เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2550 

ในเรื่องนี้ ตามมาตรา 4 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง.....”

ซึ่งตามความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้อธิบายคำว่า “บุคคล” ว่ามีความหมายครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นเพศใดหรือเพศสภาพใด 

การใช้คำว่า “บุคคล” ในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง จึงบัญญัติขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันในเรื่องการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลทุกคนตามหลักสากล ประกอบกับบทบัญญัติมาตรา 25 วรรคแรกของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันก็ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า 

“สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น” 

จากบทบัญญัติทั้งสองมาตราในข้างต้น สามารถพิจารณาได้ว่า เมื่อการให้ความคุ้มครองความเท่าเทียมระหว่างเพศของบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในความเสมอภาค ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคลทุกคนไม่ว่าจะมีเพศหรือเพศสภาพเป็นเช่นไร แม้รัฐธรรมนูญจะมิได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศไว้โดยตรง 

แต่ก็มิได้บัญญัติห้ามหรือมีข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นเช่นเดียวกัน ประกอบกับประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งมุ่งให้ความคุ้มครองความเท่าเทียมระหว่างเพศของบุคคลและยังมีผลใช้บังคับจนถึงปัจจุบัน 

ด้วยเหตุนี้ การคุ้มครองเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศจึงได้ลงหลักปักฐานในระบบกฎหมายไทยอย่างมั่นคง

ดังนั้น การคุ้มครองความเท่าเทียมระหว่างเพศ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเพศหรือเพศสภาพใดจึงอยู่ภายใต้หลักการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศซึ่งรวมถึงความหลากหลายทางเพศด้วยเหตุผลจากการรับรองโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราในข้างต้นนั่นเอง.