ภาคเอกชนกลุ่มอันดามัน เรียกร้องรัฐชะลอขึ้นค่าไฟ

ภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดอันดามัน เรียกร้องรัฐชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า เพื่อให้โอกาสภาคเอกชนปรับตัว เพราะว่าการที่ต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นแล้วไปกดราคาไว้ จะทำให้ไม่เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง อาจจะทำให้ผู้ประกอบประสบภาวะขาดทุน

นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าภาคใต้กลุ่มอันดามัน บอกว่า ในภาคเอกชนเองนั้นมองเรื่องค่าพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าค่าไฟฟ้าหรือค่าพลังงาน เป็นต้นทุนที่สำคัญ ซึ่งขึ้นอยู่กับกิจการ บางกิจการอาจจะถึง 50% เช่น โรงน้ำแข็ง ห้องเย็น ส่วนโรงงานผลิตอาหาร อยู่ที่ 10-25% ซึ่งหากมีการปรับราคาไฟฟ้าขึ้นอีก จะทำให้ต้นทุนเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากว่ารัฐบาลสามารถชะลอ หรือปรับเพิ่มเป็นขั้นบันได ให้โอกาสภาคเอกชนในการปรับตัว ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งนี้ ก็เข้าใจว่าในสถานการณ์เหตุการณ์รอบโลกเป็นปัจจัยทำให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น แต่เอกชนก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัว และตอนนี้พบว่ามีภาคเอกชนหลายรายเริ่มปรับตัวหันมาใช้พลังทางเลือกโซล่าเซลล์กันมากขึ้น และเป็นสิ่งที่ทางหอการค้ากลุ่มอันดามัน ผลักดันให้การใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การปรับเพิ่มราคาพลังงานอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐช่วยยืดเวลา และก็ลดภาระในระยะสั้น และส่งเสริมการใช้หรือสนับสนุนการใช้พลังงานโซล่าเซลล์อย่างจริงจัง โดยอาจจะสนับสนุนทั้งเรื่องของเงินทุน และทางเทคนิคต่างๆ แต่ทั้งนี้ หากท้ายสุดไม่สามารถชะลอการปรับเพิ่มค่าไฟได้แล้วนั้น ก็ต้องยอมรับสภาพที่มีผลต่อต้นทุน จึงอยากให้ทางภาครัฐ เปิดโอกาสในการปรับขึ้นราคาสินค้าให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพราะว่าการที่ต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นแล้วไปกดราคาไว้ จะทำให้ไม่เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง อาจจะทำให้ผู้ประกอบการอาจจะอยู่ไม่ได้ หรืออาจจะประสบภาวะขาดทุน จนต้องเลิกกิจการไป ซึ่งภาคเอกชนคาดหวังในเรื่องนี้มาก
 

นายสลิล กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาหลังรัฐปรับขึ้นค่าไฟฟ้ามาแล้วนั้น ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่ขึ้นอยู่กับธุรกิจนั้นๆ ว่าจะใช้ไฟมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างธุรกิจที่เห็นชัดที่สุดก็คือ ธุรกิจห้องเย็น และโรงน้ำแข็ง ซึ่งใช้ไฟเป็นหลัก ในบางธุรกิจใช้ไฟถึง 60 -80% หากมีการปรับเพิ่มค่าไฟขึ้นมาอีก 1 บาท หรือ 25% ก็เท่ากับว่าต้นทุนต้องเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 15-20% ซึ่งเท่ากับว่าไม่สามารถไปจุนเจืออะไรได้ เพราะฉะนั้นต้นทุนของผู้ประกอบการก็จะสูงขึ้น แต่ในบางธุรกิจ เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง ค่าไฟอาจจะไม่มากนัก ก็อาจจะกระทบไม่มากเพียง 5-10 % เท่านั้นเอง มาถึงเวลานี้ทางภาคเอกชนต่างบ่น และไม่เห็นด้วยหากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอีกระลอก และขอให้มีการยืดระยะเวลา เช่น แทนที่จะเริ่มต้นเดือนมกราคมนั้น ขอเลื่อนไปสัก 3 เดือนก่อนได้ไหม เพราะต้องยอมรับว่าผู้ประกอบในภาคใต้กลุ่มอันดามันเป็นภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก และธุรกิจเพิ่งจะได้เริ่มขยับได้เล็กน้อยในช่วง ไฮซีซั่น หลังจากที่ต้องรับภาระแบกรับต้นทุนมา 2-3 ปีในช่วงโควิด19 และต้องมาเจอการขยับตัวอย่างรุนแรงเรื่องค่าพลังงาน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวนั้นเจอหลายปัญหามาก มีทั้งการขาดแคลนแรงงาน สืบเนื่องจากโควิด 19 ทำให้คนอพยพออกจากธุรกิจบริการ แต่พอธุรกิจบริการเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา ก็ยังไม่สามารถหาคนกลับมาได้เพียงพอ 

ซึ่งแตกต่างแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ในภาคการผลิตถือว่าเริ่มดีขึ้น หลังจากภาวะโควิด 19 คลี่คลาย ก็จะมีแรงงานข้ามชาติผ่านการทำ MOU เข้ามาเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ แต่ถ้าในของภาคบริการโรงแรม หรือว่าสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จะต้องเป็นแรงงานที่มีความชำนาญพิเศษ ซึ่งในช่วงโควิดคนที่ไม่สามารถที่จะประกอบอาชีพได้ก็กลับไปทำงาน ทำธุรกิจที่บ้าน และปรับตัวได้ อยู่ที่บ้านสบายกว่า ส่วนหนึ่งก็จะไม่กลับมาในธุรกิจด้านบริการ ก็ต้องรับจากพนักงานใหม่ ก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัวและฝึกฝน ให้มีประสบการณ์มากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ของการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว 

โดยในช่วงแรกกลับมาได้เพียง 30 - 40% เท่านั้นเอง และอีกด้านหนึ่งนั้นเป็นความไม่มั่นใจของทางภาคธุรกิจว่าจะกลับมาบริการได้100% หรือไม่ เพราะฉะนั้นการรับพนักงานก็จะรับแบบเป็นขั้นบันได ก็คือต้องดูสถานะการท่องเที่ยวหรือตัวเลขการจองของนักท่องเที่ยว แล้วค่อยมาปรับเพิ่ม ที่ทำให้บางครั้งมันก็อาจจะไม่ทัน ซึ่งขณะนี้เป็นปัญหาหนึ่ง และยังต้องมาเจอปัญหา ต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงาน เพราะฉะนั้นอยากให้รัฐบาลช่วยประวิงเวลา ยืดไปให้ผ่านพ้นช่วงไฮซีซั่นตรงนี้ไปก่อน และค่อยๆขยับเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได ตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชน ขณะเดียวกันก็ฝากไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มอันดามัน สุดท้ายแล้วก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะเจอค่าพลังงานที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นทางเดียวคือ ต้องปรับตัว ทบทวนในการใช้พลังงานในธุรกิจของตัวเองว่ามีส่วนไหนที่ใช้เกิน ก็ต้องพยายามปรับให้ประหยัด และใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด อาจจะมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ ให้มีความประหยัดพลังงานมากขึ้น และอาจจะต้องมีการหาพลังงานทดแทน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลมในอนาคต ซึ่งจะมีส่วนที่ทำให้ธุรกิจประหยัดค่าพลังงานได้ในระยะยาว ส่วนแรงงานภาคการก่อสร้าง ตอนนี้เริ่มดีขึ้นเพราะแรงงานข้ามชาติ ได้รับการอนุญาตให้เข้ามาถูกต้องตามกฎหมายได้เพิ่มมากขึ้น