กฎหมายใหม่แก้ไขเรื่องบริษัท | สุมาพร มานะสันต์

กฎหมายใหม่แก้ไขเรื่องบริษัท | สุมาพร มานะสันต์

ฉบับนี้ ผู้เขียนขออัปเดตการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในหมวดที่ 4 ว่าด้วยเรื่องบริษัทจํากัด โดยขอสรุปใจความสำคัญในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

สองคนก็จัดตั้งบริษัทได้ กล่าวคือ ได้มีการลดจํานวนผู้ก่อตั้งบริษัทจากเดิมสามคนขึ้นไป เป็น “สองคนขึ้นไป” ให้สามารถจัดตั้งบริษัทจํากัดได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าการลดจํานวนผู้ก่อตั้งลงจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็ก หรือ Start up สามารถจัดตั้งได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการประกอบธุรกิจในรูปบริษัทมากขึ้น

การจดทะเบียนบริษัทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ หลังจากมีการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว ต้องมีการจดทะเบียนบริษัทภายในสามปี มิเช่นนั้นหนังสือบริคณห์สนธิดังกล่าวจะเป็นอันสิ้นผลตามกฎหมาย

กฎหมายใหม่แก้ไขเรื่องบริษัท | สุมาพร มานะสันต์

การลงลายมือชื่อกรรมการในใบหุ้น กล่าวคือ เดิมทีกฎหมายกําหนดเพียงแค่ให้กรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อในใบหุ้น แต่ปัจจุบันได้เพิ่มเติมการประทับตราบริษัทในใบหุ้นด้วย

ทั้งนี้ เหตุผลในการเพิ่มเติมการประทับตราบริษัทลงในใบหุ้นนั้น เป็นการบังคับให้ในทางปฏิบัติให้ทุกบริษัทจําเป็นต้องมีตราประทับ (แม้รายการในหนังสือบริคณห์สนธิจะไม่ได้กําหนดให้ต้องมีก็ตาม)

ให้นําเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการประชุมกรรมการได้ กล่าวคือ บริษัทสามารถประชุมกรรมการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทําให้กรรมการไม่จําเป็นต้องปรากฏตัวในที่ประชุม ซึ่งเป็นการอํานวยความสะดวกให้กับการดําเนินการของบริษัทและสอดคล้องกับหลักการของ พ.ร.ก.การประชุมออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

อย่างไรก็ดี ในกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทําและจัดส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงความสมบูรณ์ของการประชุมและการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ บริษัทจําเป็นต้องพิจารณาหลักการของกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วย

การเรียกประชุมผู้ถือหุ้นให้ดำเนินการแตกต่างกันในใบหุ้นแต่ละประเภท กล่าวคือ สำหรับผู้ถือหุ้นที่มีชื่อในทะเบียน ให้ส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไม่น้อยกว่า 7 วัน และสำหรับหุ้นชนิดที่มีใบถือหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ ให้โฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์หรือในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่น้อยกว่า 7 วัน 

ทั้งนี้ หากเป็นการเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทำการดังกล่าวไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมวิธีการในการเรียกประชุมนี้ ก็เป็นไปเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

กฎหมายใหม่แก้ไขเรื่องบริษัท | สุมาพร มานะสันต์

การลงมติในที่ประชุมใหญ่ กล่าวคือ เดิมทีกฎหมายกำหนดเพียงแค่ให้การประชุมใหญ่ให้มีผู้ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของทุนจึงจะลงมติได้ โดยกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้เพิ่มเติมหลักการให้การประชุมใหญ่ต้องมีผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะไม่น้อยกว่า 2 คน และมีหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของทุน จึงจะสามารถลงมติได้

กำหนดระยะเวลาการจ่ายเงินปันผลให้ชัดเจน กล่าวคือ กำหนดให้การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติ ซึ่งการปรับปรุงหลักการดังกล่าวเป็นไป

เพื่อให้มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการจ่ายเงินปันผล ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลเรื่องการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการจ่ายเงินปันผล ทั้งนี้ ตามกฎหมายใหม่ หากบริษัทไม่ดำเนินการจ่ายเงินปันผลตามระยะเวลาที่กำหนดจะมีความผิดตามกฎหมายอีกด้วย

แก้ไขหลักการการควบรวมบริษัท กล่าวคือ ได้แก้ไขหลักการเกี่ยวกับการควบรวมบริษัท ให้การควบรวมกันระหว่างบริษัทจำกัดสามารถทำได้โดยอาศัยมติพิเศษ และเมื่อบริษัทควบรวมกันนั้นสามารถทำได้สองวิธี (จากเดิมที่จะต้องเกิดบริษัทที่มีสภาพนิติบุคคลใหม่ในทุกกรณี) 

วิธีแรก คือ การควบรวมเป็นบริษัทใหม่ เช่น บริษัท ก.ควบรวมกับบริษัท ข. เกิดเป็นบริษัท ค. ซึ่งการควบรวมในลักษณะนี้จะเกิดบริษัทใหม่ (บริษัท ค.) โดยบริษัทเดิมที่ควบรวมกัน (ก.และ ข.) จะสิ้นสุดสภาพนิติบุคคล

วิธีที่สอง คือ การควบรวมแบบผนวกบริษัท ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งที่ควบรวมยังคงสภาพความเป็นนิติบุคคลไว้ และอีกบริษัทจะสิ้นสุดความเป็นนิติบุคคล

เช่น เมื่อบริษัท ก.ควบรวมกับบริษัท ข. จะต้องคงเหลือสภาพบริษัทของบริษัท ก.หรือไม่ก็ ข. บริษัทใดบริษัทหนึ่งไว้ ทั้งนี้ การควบรวมไม่ว่าวิธีใดบริษัทที่ควบรวมจะได้รับไปซึ่งทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของบริษัทเดิมที่มีอยู่ด้วย

นอกจากนี้ รายละเอียดการควบรวมบริษัทนั้นยังมีข้อกำหนดเพิ่มเติม เช่น เมื่อมีมติพิเศษให้ควบรวมกิจการแล้ว บริษัทจะต้องนำไปจดทะเบียนภายใน 14 วันนับจากวันลงมติพิเศษ และจะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังเจ้าหนี้ตามรายชื่อที่ปรากฏในบัญชีของบริษัท โดยกำหนดระยะเวลาให้เจ้าหนี้คัดค้านได้ภายในหนึ่งเดือน (นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว)

ทั้งนี้ หากมีเจ้าหนี้คัดค้านในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด บริษัทจะไม่สามารถควบรวมกันได้จนกว่าจะมีการชำระหนี้ หรือประกันหนี้ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การเลิกบริษัทโดยคำสั่งศาล กล่าวคือ กฎหมายใหม่ได้กำหนดให้การเลิกบริษัทอาจขอให้ศาลสั่งเลิกได้หากจำนวนผู้ถือหุ้นเหลือคนเดียว (เดิมทีกฎหมายกำหนดให้ทำได้เมื่อจำนวนผู้ถือหุ้นเหลือไม่ถึงสามคน) หรือเมื่อมีเหตุอื่นใดที่ทำให้บริษัทไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ก็สามารถเป็นเหตุที่ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทได้เช่นกัน

ท้ายที่สุด ที่ผู้เขียนเล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยเรื่องบริษัทจำกัด ที่ผู้ใช้งานเพิ่งศึกษาโดยละเอียดเพื่อประโยชน์ในการใช้งาน โดยกฎหมายใหม่นี้ มีผลบังคับใช้แล้วนับแต่ 7 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป