“ขนบนิยม” สู้ “ค่านิยม” | วรากรณ์ สามโกเศศ

“ขนบนิยม” สู้ “ค่านิยม” | วรากรณ์ สามโกเศศ

ตกลงที่ประชุมเห็นชอบว่า “ลับ” และอย่าง “ลับ” หรือไม่ครับ ถ้าประธานพูดโดยไม่แยกตัว “ร” และ “ล” แบบนี้ เชื่อว่าผู้ประชุมงงแน่ ถ้าประธานพูดตาม “ขนบนิยม” ก็หมายถึงว่าจะเห็นชอบให้ “รับ” จดหมายร้องเรียนโดยจะประชุมต่อไปอย่าง “ลับ” หรือไม่

หรืออีกตัวอย่างของคณะเฝ้าดูสัตว์ “คุณเห็นสัตว์ตัวนั้นไหม ผมเห็นมันเป็นค้าง-คาว” อีกคนโต้ตอบ “แต่มันวิ่งสี่ขาบนดินนะ” อย่างนี้ต้องคุยกันนานเพราะเขาหมายความว่าได้เห็นมันเป็น “ครั้ง-คราว

ผู้เขียนได้คุยกับท่านอาจารย์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติและสุดยอดกวีไทยสมัยใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้คุยกันถึงเรื่องการพูดตัว “” และตัว “” และคำกล้ำ ตลอดจนการพูดจาที่รู้สึกว่าหยาบคายมากขึ้นในกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” อาจารย์บอกว่ามันเป็นการต่อสู้ระหว่าง “ขนบนิยม” กับ “ค่านิยม” เมื่อได้ยินดังนั้นผมก็เข้าใจและขอเอามาขยายความต่อในที่นี้ ส่วนจะถูกผิดอย่างไรเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่ผู้เดียวครับ

“ขนบนิยม” สู้ “ค่านิยม” | วรากรณ์ สามโกเศศ

ขนบ” หมายถึง แบบอย่างแผนหรือระเบียบ ดังคำว่า “ขนบธรรมเนียม” ซึ่งหมายถึง “แบบอย่างที่นิยมกันมา” แต่ละสังคมมี “ขนบ” ในเรื่องต่าง ๆ เช่น การพูด การแต่งกาย การใช้ชีวิต ฯลฯ ที่ถือกันว่าเป็นบรรทัดฐาน (norm) ตัวอย่างเช่นสังคมไทยถือว่าการพูดคำสุภาพในที่สาธารณะ 

การใช้ภาษาอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับกาละเทศะ การแต่งกายสุภาพ การใช้ชีวิตที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ฯลฯ เป็น” ขนบนิยม” ไม่มีใครเขียน “ขนบ” ของแต่ละเรื่องไว้ แต่เป็นที่รู้กันโดยสืบทอดกันมาในสังคมผ่านปู่ย่าตายายสู่พ่อแม่และถ่ายทอดผ่านคำสอนในโรงเรียน

เช่น ความเชื่อ การมีมารยาทในการพูดการจา ในการเดินเหิน ในการวางตัวต่อหน้าผู้ใหญ่ ในการแต่งกายในโอกาสต่าง ๆ ในการกราบไหว้ ฯลฯ norm เหล่านี้หล่อรวมให้คนไทยมีอัตลักษณ์ในลักษณะหนึ่ง

อย่างไรก็ดี “ค่านิยม” ซึ่งหมายถึง “สิ่งที่บุคคลหรือสังคมยึดถือเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจและกำหนดการกระทำของตนเอง” นั้น ไม่มีบรรทัดฐานหรือ norm ที่ตายตัว มันเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม ตัวอย่างเช่นเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ ตลอด 30-40 ปี ที่ผ่านมาสังคมไทยยึดถือความพอใจในเรื่องการมีความสัมพันธ์โดยไม่แต่งงานเป็นตัวกำหนดการกระทำ มันเป็น “ค่านิยม” ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับ “ขนบนิยม” ของสังคมไทย   

เมื่อเกิดขึ้นในตอนแรก “ขนบนิยม” กับ “ค่านิยม” ต่อสู้กันรุนแรงเพราะ “ขนบนิยม” ครอบงำความคิดในเรื่องนี้มายาวนาน แต่อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกทำให้สังคมส่วนหนึ่งมี “ค่านิยม” ในเรื่องเสรีภาพทางเพศแรงขึ้นจนแหก “ขนบนิยม”  ซึ่งในเวลาต่อมา “ขนบนิยม” ก็ปรับตัวจนทั้ง “ค่านิยม” และ “ขนบนิยม” เข้ามาใกล้กันมากขึ้น

“ขนบนิยม” สู้ “ค่านิยม” | วรากรณ์ สามโกเศศ

การต่อสู้ระหว่าง “ขนบนิยม” กับ “ค่านิยม” เกิดขึ้นตลอดเวลาในหลายเรื่องจนทำให้คนส่วนหนึ่งซึ่งมักเป็นคนมีอายุมากกว่าที่ยึด “ขนบนิยม” มานาน ไม่พอใจจนในบางครั้งเกิดการสูญเสียขึ้น ตัวอย่างคือเรื่องการสักบนร่างกาย 

การสักเป็น “ขนบนิยม” โบราณที่เห็นว่าเป็นเรื่องของวัฒนธรรม (ชาวล้านนานิยมการสักบนร่างกายมายาวนาน) และคาถาอาคม ต่อมาในยุคอิทธิพลฝรั่งเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน  การสักเป็นที่นิยมในกลุ่มเศรษฐีและผู้นำสังคมและมีราคาแพงมาก แต่เมื่อกลาสีเรือ ผู้ใช้แรงงาน นักเลงอันธพาล คนคุก นิยมสักกันมากขึ้นในรอบ 100 กว่าปีที่ผ่านมา “ขนบนิยม” ของสังคมโลกและสังคมไทยในเรื่องการสักก็เป็นไปในทางลบ

อย่างไรก็ดี เมื่อการสักเป็นที่นิยมในหมู่ดารานักแสดง นักร้องในสังคมตะวันตกตลอด 40 ปีที่ผ่านมา คนไทยก็เริ่มนิยมการสักมากขึ้นจนกลายเป็น “ค่านิยม” สมัยใหม่ของสังคมส่วนหนึ่ง “ขนบนิยม” ของสังคมไทยไม่สั่นครอนโอนอ่อนไปตาม “ค่านิยม” นี้  

ดังนั้น จึงเกิดการได้เสียเกิดขึ้น กล่าวคือ ใครที่มีรอยสักบนหน้า แขน ขา หรือร่างกาย โดยเฉพาะในบริเวณที่คนอื่นเห็นได้โดยง่าย ถูกมองอย่างดูแคลนว่าอาจเป็นคนเคยติดคุก หรือมีประวัติชีวิตที่ “เฮ้ว” โลดโผนมาก่อน (โดยเฉพาะบนร่างกายหญิง)

หรือมีวิจารณญาณที่ไม่ดี หรือเป็นคนไม่เต็มบาท ฯลฯ จนอาจทำให้เกิดปัญหาในเรื่องความไว้วางใจหรือความสัมพันธ์กับคนอื่นในเรื่องต่าง ๆ เช่น การร่วมงาน การจ้างงาน การร่วมลงทุนหรือการทำธุรกิจ ฯลฯ ได้ 

“คนรุ่นใหม่” ที่ไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง “ขนบนิยม” กับ “ค่านิยม” ในเรื่องวิธีการพูดจา การวางตัว มารยาทไทย ฯลฯ อาจผิดพลาดจนไม่ก้าวหน้าได้ เพราะสังคมไทยนับถือความอาวุโส ความสุภาพอ่อนโยน การอ่อนน้อมถ่อมตน การใช้ภาษาไทยที่เหมาะสม ฯลฯ

โดยประกอบกันเป็น “ขนบนิยม” หาก “คนรุ่นใหม่”  ยึดตาม “ค่านิยม” ตามกระแสนิยมที่เกิดขึ้นโดยไม่แยแส “ขนบนิยม” แล้ว คนเสียหายคือคนแหก “ขนบนิยม” เพราะฝ่าย “ขนบนิยม” นั้นมักมีจำนวนมากกว่าเสมอ

ลองวาดภาพดูว่าหาก “คนรุ่นใหม่” ที่ยึดแต่ “ค่านิยม” ไปสมัครงานหรือเข้าแข่งขันในสภาวการณ์ที่มีคณะกรรมการเป็นผู้ตัดสิน โดยไม่สนใจการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและการออกเสียงอักขระอย่างชัดเจน การใช้สรรพนามกับกรรมการอย่างเหมาะสมตลอดจนการใช้วาจาสุภาพ และมีมารยาทไทยแล้วจะเสียเปรียบอย่างมากจนอาจพลาดโอกาสที่ดีไปได้

การใช้คำพูดและกริยาที่หยาบคายมากขึ้นในสื่อสาธารณะในปัจจุบัน (ตลกบางมุขเมื่อก่อนเล่นกันเฉพาะในคาเฟ่ แต่ในปัจจุบันเป็นเรื่องธรรมดาในสื่อทั่วไป) ตลอดจนการใช้ภาษาสมัยพ่อขุนในสื่อและสถานที่สาธารณะของ “คนรุ่นใหม่” คือการต่อสู้ระหว่าง “ขนบนิยม” กับ “ค่านิยม” 

หากเป็นเมื่อสมัย 30 ปีก่อน  ผู้มี “ค่านิยม” ไปในทางหยาบคายมากขึ้นเช่นปัจจุบันจะเสียหายมากจนอาจไม่มีที่ยืนในสังคมหากเป็นการใช้คำพูดโดยบุคคลสาธารณะ แต่เมื่อเกิดการขยับลงของบรรทัดฐานของสังคมไทยในเรื่องการรับความหยาบคาย

จึงทำให้ไม่เกิดปัญหามากนักเพราะบัดนี้ “ขนบนิยม” และ “ค่านิยม” ได้ขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น สำหรับคำถามที่ว่าเราควรยินดีกับการเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่นั้น สังคมไทยซึ่งเป็นผู้สร้าง “ขนบ” และส่วนน้อยของสังคมที่เป็นผู้สร้าง “ค่านิยม” ในตอนแรก คงต้องช่วยกันตอบกระมัง

การต่อสู้ระหว่าง “ขนบนิยม” กับ “ค่านิยม” เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในทุกสังคม ทุกยุค ทุกสมัย หากสังคมเข้าใจการต่อสู้เช่นนี้อย่างชัดเจนแล้วก็จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นระหว่างคน “รุ่นเก่า” และ “คนรุ่นใหม่”